ลอนดอน 31 ม.ค.- วิกฤติด้านสาธารณสุขที่เกิดขึ้นในอังกฤษส่งผลกระทบต่อชีวิตและการรับบริการของประชาชน โดยเมื่อปีที่แล้วมีหญิงสูงวัยคนหนึ่งเสียชีวิตหลังจากรอรถพยาบาลนานถึง 11 ชั่วโมง
นายแมทธิว ฮัลบิร์ต วัย 42 ปี สมาชิกสภาเทศบาลเมืองบาร์เวลล์ ห่างจากกรุงลอนดอนขึ้นไปทางเหนือ 160 กิโลเมตร เล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับมารดาเมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2564 อย่างเต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก แม้ว่าเคยเล่าให้คนอื่นฟังมาแล้วหลายครั้ง มารดาวัย 78 ปี หกล้มช่วงเช้ามืด เขาได้โทรเรียกถพยาบาลเมื่อเวลา 05:01 น.รอจนกระทั่งเจ้าหน้าที่ฉุกเฉินการแพทย์ขับรถส่วนตัวมาถึงในเวลา 16:00 น. หรืออีก 11 ชั่วโมงต่อมา และโทรเรียกรถพยาบาลมาอีกใน 30 นาที สาเหตุที่เขารอรถพยาบาลเนื่องจากมารดาบ่นว่าเจ็บซี่โครง จึงไม่กล้าเคลื่อนย้ายมารดาด้วยตัวเอง แพทย์ที่โรงพยาบาลวินิจฉัยว่า มารดาติดเชื้อ จนกลายเป็นภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด และเสียชีวิตในอีก 2 วันถัดมา ด้านหัวหน้าแผนกฉุกเฉินของโรงพยาบาลที่รักษาชี้แจงกับเอเอฟพีว่า เสียใจอย่างยิ่งที่ไม่สามารถไปรับผู้ป่วยได้เร็วกว่านี้ และกำลังสอบสวนเหตุที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ดี บริการฉุกเฉินต้องให้ความสำคัญกับคนที่ป่วยหนักที่สุดและบาดเจ็บสาหัสที่สุดก่อนเป็นอันดับแรก
เอเอฟพีระบุว่า บริการทางการแพทย์ล่าช้าลักษณะนี้เป็นข่าวในอังกฤษอยู่เสมอ สะท้อนถึงวิกฤตสาธารณสุขที่เกิดขึ้นกับสำนักงานบริการสุขภาพแห่งชาติหรือเอ็นเอชเอช (NHS) อันเกิดจากการใช้มาตรการตัดลดงบประมาณและผลจากโรคโควิด-19 ระบาด ข้อมูลนับจนถึงสิ้นปี 2565 พบว่า ผู้ป่วยเรียกรถพยาบาลที่ถูกจัดให้เป็นผู้ป่วยประเภท 2 ซึ่งรวมถึงโรคหัวใจวายและโรคหลอดเลือดสมอง จะต้องรอนานเฉลี่ย 90 นาที จึงจะได้รับความช่วยเหลือ ความล่าช้าดังกล่าวส่งผลให้ผู้ป่วยหลายรายต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลนานเกินความจำเป็น
วิกฤตสาธารณสุขในอังกฤษเลวร้ายลงอีกเมื่อพยาบาลและเจ้าหน้าที่รถพยาบาลนัดหยุดงานหลายครั้งเรียกร้องขอขึ้นเงินเดือนและปรับปรุงสภาพการทำงาน และจะมีการนัดหยุดงานครั้งใหม่ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์นี้ นายกรัฐมนตรีริชี ซูนัคประกาศว่าจะเพิ่มรถพยาบาล 800 คัน และเตียงในโรงพยาบาล 5,000 เตียงให้แก่เอ็นเอชเอสหวังบรรเทาแรงกดดัน.-สำนักข่าวไทย