กรุงเทพฯ 17 ม.ค. – กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ บช.สอท.เตือนภัยกลโกงใหม่มิจฉาชีพ หลอกส่งลิงก์ผ่าน SMS อ้างแจก “อั่งเปาฟรี” ช่วงเทศกาลตรุษจีน เผลอคลิกดูดเงินเกลี้ยงบัญชี
โดยมิจฉาชีพจะส่งลิงก์ที่แนบมากับข้อความสั้น หรือ SMS อ้างว่าท่านได้รับอั่งเปาฟรี ได้รับสิทธิพิเศษ หรือได้รับเงินรางวัลต่างๆ เมื่อคลิกเข้าไปในเว็บไซต์ปลอมจะให้กรอกข้อมูลส่วนบุคคล และข้อมูลทางการเงิน ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในทางมิชอบ ไม่ว่าจะเป็นการนำข้อมูลไปเข้าถึงบัญชีสื่อสังคมออนไลน์แล้วไปหลอกยืมเงินผู้อื่น ใช้บัตรเดบิตหรือเครดิตรูดชำระค่าสินค้า หรือถูกโอนเงินจากบัญชีธนาคาร หรือนำไปแอบอ้างทำเรื่องที่ผิดกฎหมาย หากผู้เสียหายหลงเชื่อกรอกข้อมูลไปยังเว็บไซต์ปลอมดังกล่าวแล้ว ให้รีบเปลี่ยนรหัสผ่านทันที ทั้งเว็บไซต์ธนาคารจริง อีเมล สื่อสังคมออนไลน์
แต่ที่น่าตกใจคือบางคนไม่ได้โหลด หรือกดลิ้งค์แปลกปลอม แต่กลับถูกแฮกข้อมูล ดูดเงินออกไปได้ ซึ่งผู้เสียหาย 20 คน ได้เดินทางไปร้อง ตร.ไซเบอร์ ว่าถูกกลุ่มมิจฉาชีพแฮกข้อมูลโทรศัพท์ แล้วโอนเงินออกไปจากบัญชีธนาคาร พร้อมหลักฐาน ข้อความ sms สลิปเงินโอนที่ถูกมิจฉาชีพแฮกออกไป พบมีผู้เสียหายมากถึงกว่า 100 คนแล้ว มูลค่าความเสียหายหลายล้านบาท ลักษณะที่พบคือถูกกลุ่มมิจฉาชีพแฮกข้อมูลโทรศัพท์ แล้วโอนเงินออกจากบัญชีธนาคาร ซึ่งตอนนี้พบแทบทุกแอปฯ ธนาคาร และโทรศัพท์ผู้เสียหายที่ใช้ก็มีทั้งระบบแอนดรอยด์และ IOS จากการสอบถามผู้เสียหายพบว่าเป็นผู้ที่ค่อนข้างระวังตัวมาก ไม่โหลดแอปพลิเคชั่นแปลก หรือกดลิ้งแปลกปลอมที่เข้ามา ไม่ได้ใช้สายชาร์ทคนอื่น หรือชาร์ทในที่สาธารณะ และไม่ได้ใช้ Wi-Fi สาธารณะ แต่กลับมีข้อความแจ้งเตือนจากธนาคารว่า มีการโอนเงินจากธนาคารตนเอง ไปยังธนาคารอีกคนปลายทาง ทั้งๆ ที่ไม่ได้ทำธุรกรรมแต่อย่างใด โดยผู้เสียหายบางคนยังพบมีการถูกแฮกเข้าไปในแอปฯ จนสามารถปรับเพิ่มวงเงินโอนแต่ละวันให้สามารถโอนเงินออกต่อครั้งจนหมดบัญชีได้
เช่นผู้เสียหายชายชาวจังหวัดนครปฐม ที่รับแจ้งจากธนาคาร 1 แสนบาท ทั้งๆ ที่ไม่ได้โอน ซึ่งปกติก็ใช้แอปฯ ธนาคารรับโอนเงิน สแกนซื้อของตามร้านค้าปกติ แต่ก่อนหน้านั้นเข้าแอปฯ ไม่ได้ จึงติดต่อธนาคารให้ช่วยปลดล็อคแอปฯ ให้ใช้งานได้เหมือนเดิม ผ่านไป 2 วัน มือถือหน้าจอค้าง จึงกดปิดเปิดเครื่องใหม่ กระทั่งเวลา 17.00 น. วันเดียวกัน มีข้อความว่าเงินโอนออกไปแล้ว จึงไปแจ้งความ แต่เจ้าหน้าที่กลับบอกให้รอประสานกับธนาคารก่อน
ขณะที่บางคนมีข้อความจากแอปฯ ที่ใช้ช้อปปิ้งออนไลน์ ส่งข้อความมาเป็นลิ้งให้กดรับส่วนลดเพิ่ม ซึ่งมาในช่องข้อความเดียวกันกับช่องแชททางการที่ใช้เป็นประจำ คาดว่ามิจฉาชีพเจาะระบบเข้าไปเพื่อส่งลิ้งมาหลอก จึงเผลอกดเข้าไป มิจฉาชีพยังแชทสวมรอยเป็นเจ้าหน้าที่แอปฯ ช้อปปิ้ง หลอกให้โหลด และลงทะเบียนอีกแอปฯ จากนั้นเงินทั้ง 4 บัญชีก็ถูกโอนออกทุกบัญชี รวมเป็นเงินนับแสนบาท ทั้งที่ไม่เคยผูกบัญชีไว้กับแอปฯ ช้อปปิ้งแต่อย่างใด ขณะที่เจ้าหน้าที่เตือนอย่าผูกบัญชีกับแอปฯ ช้อปปิ้งออนไลน์ หรือกดลิ้งแปลกๆ ที่ส่งเข้ามา ไม่ว่าจะมีข้อความชวนเชื่อก็ตาม. -สำนักข่าวไทย