กรุงเทพฯ 17 ม.ค. – เพจสายไหมต้องรอดพาผู้เสียหายร้องตำรวจไซเบอร์ หลังถูกดูดเงินออกจากบัญชี ล่าสุดพบเหยื่อกว่า 100 ราย ผู้เสียหายส่วนใหญ่ไม่ได้กดลิงก์แปลกปลอม ไม่ได้เข้าไวไฟ ไม่ได้ชาร์จที่สาธารณะ กลับถูกแฮก
นายเอกภพ เหลืองประเสริฐ ผู้ก่อตั้งเพจสายไหมต้องรอด พร้อมผู้เสียหาย 20 คน ถูกกลุ่มมิจฉาชีพแฮกข้อมูลโทรศัพท์แล้วโอนเงินออกไปจากบัญชีธนาคาร เข้าแจ้งความที่กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) โดยมี พล.ต.ต.กานตพงศ์ ชัยรุ่งเรือง ผู้บังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบก.ตอท.) เป็นผู้รับเรื่อง โดยผู้เสียหายได้รวบรวมหลักฐานทั้งบันทึกแจ้งความ ข้อความ sms สลิปเงินโอนที่ถูกมิจฉาชีพแฮกออกไป
ล่าสุดมีผู้เสียหายกว่า 100 รายแล้ว มูลค่าความเสียหายหลายล้านบาท ลักษณะที่พบคือถูกกลุ่มมิจฉาชีพแฮกข้อมูลโทรศัพท์แล้วโอนเงินออกจากบัญชีธนาคาร ซึ่งตอนนี้พบแทบทุกแอปฯ ธนาคาร และโทรศัพท์ผู้เสียหายที่ใช้ก็มีทั้งระบบแอนดรอยด์และ IOS จากการสอบถามผู้เสียหายค่อนข้างระวังตัวมาก ไม่โหลดแอปพลิเคชันแปลก หรือกดลิงก์แปลกปลอมที่เข้ามา และไม่ได้ใช้สายชาร์จคนอื่น หรือชาร์จในที่สาธารณะ และไม่ได้ใช้ไวไฟสาธารณะด้วย แต่กลับมีข้อความแจ้งเตือนจากธนาคารว่ามีการโอนเงินจากธนาคารตนเองไปยังธนาคารอีกคนปลายทาง ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ทำธุรกรรมแต่อย่างใด โดยผู้เสียหายบางคนถูกแฮกเข้าไปในแอปฯ จนสามารถปรับเพิ่มวงเงินโอนแต่ละวันให้สามารถโอนเงินออกต่อครั้งจนหมดบัญชีได้
หนึ่งในผู้เสียหาย ชาวนครปฐม เล่าว่าเมื่อวันที่ 29 ธ.ค.65 ธนาคารแจ้งเงินออกจากบัญชี 100,000 บาท ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้โอน ปกติใช้แอปฯ ธนาคารรับโอนเงิน สแกนซื้อของตามร้านค้าปกติ ก่อนหน้านั้นเข้าแอปฯ ไม่ได้ จึงไปติดต่อที่สาขาธนาคาร เพื่อให้ช่วยปลดล็อกแอปฯ ให้ใช้งานได้เหมือนเดิม จากนั้นผ่านไป 2 วัน ช่วงบ่ายวันที่ 29 มือถือหน้าจอค้าง จึงกดปิดเปิดเครื่องใหม่ และนอนหลับไป กระทั่งเวลา 17.00 น.วันเดียวกัน ก็มีข้อความว่าเงินโอนออกไปแล้ว จึงไปแจ้งความที่ สภ.สามพราน ทันที แต่เจ้าหน้าที่แจ้งว่าต้องรอประสานกับธนาคารก่อน ซึ่งร้อนใจและรู้สึกว่าการดำเนินการช้าเกินไป จึงต้องมาร้องขอให้เพจสายไหมต้องรอดช่วยเหลือ เพราะเงิน 100,000 บาทเป็นเงินที่เก็บออมจากการทำงาน จึงอยากขอให้เจ้าหน้าที่ช่วยเร่งติดตามให้ได้เงินคืนโดยเร็ว
ขณะที่ นางณภัทรศนัน ชาว กทม. อีกหนึ่งผู้เสียหาย โชว์หลักฐานข้อความที่ถูกมิจฉาชีพสวมรอยแชตเข้ามาคุย และสลิปเงินที่ถูกโอนออกไปทั้งที่ไม่ได้เป็นผู้โอน พร้อมเล่าว่ามี 4 บัญชี โดนดูดเงินออกทุกบัญชี รวมกว่า 400,000 บาทภายในวันเดียว เหตุเกิดวันที่ 12 ม.ค.66 มีข้อความจากแอปฯ ที่ใช้ชอปปิงออนไลน์ส่งข้อความมาเป็นลิงก์ให้กดรับส่วนลดเพิ่ม ซึ่งมาในช่องข้อความเดียวกันกับช่องแชตทางการที่ใช้เป็นประจำ คาดว่ามิจฉาชีพเจาะระบบเข้าไป เพื่อส่งลิ้งมาหลอกตน โดยไม่ทันสังเกตความผิดปกติของข้อความที่ส่งมา จึงเผลอกดเข้าไปมิจฉาชีพยังได้แชตเข้ามาสวมรอยเป็นเจ้าหน้าที่แอปฯ ชอปปิงหลอกให้โหลดและลงทะเบียนอีกแอปฯ จากนั้นเงินก็ถูกโอนออกไปทั้งหมดทุกบัญชี โดยยืนยันว่าไม่เคยผูกบัญชีไว้กับแอปฯ ชอปปิงแต่อย่างใด จึงรีบไปแจ้งความไว้ที่ สน.ราษฎร์บูรณะ แต่กังวลว่าจะไม่ทันกาล จึงต้องมาร้องเรียนในวันนี้
นอกจากนี้ ผู้เสียหายยังระบุในบัญชีที่ถูกแฮกเป็นบัญชีเงินเก็บที่ออมไว้ให้ลูก ไม่เคยถอน จึงข้องใจการดำเนินการของธนาคารว่าเมื่อมีการโอนเงินออกแบบผิดปกติ โอนซ้ำ ๆ จากบัญชีเดียวทั้งที่เป็นบัญชีที่ไม่เคยโอนเงินออก ทำไมถึงไม่มีระบบแจ้งเตือนความผิดปกติ
ด้าน พล.ต.ต.กานตพงศ์ ชัยรุ่งเรือง ผู้บังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบก.ตอท.) กล่าวว่า สอท.จะเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงและช่วยเหลือติดตามผู้กระทำผิด เชื่อว่าตรวจสอบได้ไม่ยาก เพราะมีชื่อบัญชีบุคคลปลายทางที่มีการโอนเงินของผู้เสียหายออกไป โดยกรณีผู้เสียหายถูกดูดเงินทั้งที่ไม่เคยกดลิงก์แปลกปลอม แต่กลับถูกแฮกข้อมูลดูดเงินออกไปนั้น ยอมรับว่ามิจฉาชีพมีการใช้เทคโนโลยีซับซ้อน อยากฝากเตือนประชาชนให้ระมัดระวัง อย่าผูกบัญชีกับแอปฯ ชอปปิงออนไลน์ หรือกดลิงก์แปลก ๆ ที่ส่งเข้ามา ไม่ว่าจะมีข้อความชวนเชื่ออย่างไรก็ตาม.-สำนักข่าวไทย