รัฐสภา15 ธ.ค.-“มัลลิกา” พร้อม ส.ส.ประชาธิปัตย์ 21 คน ยื่นเสนอร่าง พ.ร.บ.กสทช.ฉบับแก้ไข หวังช่วยผู้บริโภค ลดค่าบริการโทรศัพท์-อินเตอร์เน็ต ตามปริมาณการใช้ที่เพิ่มขึ้นและเป็นธรรม
น.ส.มัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และน.ส.สุภาพร กำเนิดผล ส.ส.สงขลา แถลงว่า ได้ยื่นเรื่องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร พร้อมกับแนบร่างพระราชบัญญัติและเอกสารประกอบในเรื่องร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่) พ.ศ. … โดยมีคณะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์จำนวนรวม 21 คนร่วมสนับสนุนและเสนอด้วยเช่น นายบัญญัติ บรรทัดฐานสมาชิก ส.ส. บัญชีรายชื่อ นายเดชอิศม์ ขาวทอง ส.ส.จังหวัดสงขลา รองหัวหน้าพรรค นายชินวร บุญเกียรติ ส.ส. จังหวัดนครศรีธรรมราช ประธานวิปรัฐบาล นางสาวสุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ ส.ส.ตรัง นายภานุ ศรีบุศยกาญจน์ ส.ส. สุราษฎร์ธานี นายเกัยรติ สิทธิอมร ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายมนตรี ปาน้อยนนท์ ส.ส. ประจวบคีรีขันธ์ นายพนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายประกอบ รัตนพันธุ์ ส.ส. นครศรีธรรมมราช นางสาวพิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นต้น โดยทั้งหมดเป็น ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์
น.ส.มัลลิกา กล่าวว่า ตนและคณะขอเสนอร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้พร้อมด้วยบันทึกหลักการและเหตุผลและบันทึกวิเคราะห์สรุปสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติประกอบกับเอกสารการดำเนินการตามมาตรา 77 วรรคสองของรัฐธรรมนูญ เพื่อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาตามขั้นตอนโดยหากทำการลงมติจากสภาผู้แทนเห็นชอบก็จะได้เสนอต่อวุฒิสภาเพื่อพิจารณาตามรัฐธรรมนูญต่อไป
” เราเข้ามาเป็นส.ส.ช้า และมาปลายสมัยแต่ก็ตั้งใจเขีย
นกฎหมายได้ทัน ความจริงตั้งใจเสนอ 3 ฉบับแต่ฉบับนี้เสร็จก่อน โดยร่างฉบับนี้เกิดจากตั้งแต่วันแรกที่เข้าสภาฯมาก็ได้หารือเรื่องเกี่ยวกับบทบาทของ กสทช. ด้านการควบรวมทำให้ลดการแข่งขันของค่ายมือถือและเรื่องกฎหมายเก่าตั้งแต่มีโทรศัพท์จำนวนไม่กี่เครื่องตอนนี้ทวีคูณไปมากแล้วแต่การคิดอัตตราค่าบริการยังไม่ทันสมัยและทันการณ์ที่จะคุ้มครองผู้บริโภค เราจึงต้องการช่วยผู้บริโภคช่วยพี่น้องประชาชน ประโยชน์ใหญ่หลวงต่อเยาวชนที่ยุคสมัยเปลี่ยนไปเราต้องทันเทคโนโลยีทั้งปริมาณเครื่องที่มากขึ้นและปริมาณการใช้ต่อวันก็หลายชั่วโมงมากขึ้น จำนวนคนในครัวเรือนก็ใช้กันแทบทุกคนทั้งหมดจึงเป็นภาระค่าใช้จ่ายประชาชน ถ้าค่าบริการไม่มีการปรับปรุงให้ทันสมัยอย่างทันท่วงทีเราต้องแก้กฎหมายใหญ่รองรับ”น.ส.มัลลิกา กล่าว
น.ส.มัลลิกา กล่าวอีกว่า การแก้ไขจะเน้นที่การ ปรับปรุงมาตรา 27 (9) เพิ่มเติมถ้อยความเกี่ยวกับการทบทวนโครงสร้างให้เหมาะกับสภาพแวดล้อมทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง คือกำหนดโครงสร้างอัตราค่าธรรมเนียมและโครงสร้างอัตราค่าบริการในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม และสามารถทบทวนโครงสร้างอัตราค่าธรรมเนียมและโครงสร้างอัตราค่าบริการให้เหมาะสมตามสภาพแวดล้อมทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ให้เป็นธรรมต่อผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการโดยคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ.-สำนักข่าวไทย