ธปท. 2 ธ.ค. – เวทีเสวนาธนาคารกลาง BIS แนะใช้ดิจิทัลให้บริการทางการเงิน เดินหน้าทดสอบใช้สกุลเงินดิจิทัล ออกโดยธนาคารกลาง โอนเงินระหว่างประเทศ
นางสาวณชา อนันต์โชติกุล ผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. แถลงสรุปผลการประชุม BIS การเสวนาในหัวข้อ A Digitalised Monetary System in the Making?
ผู้ร่วมเสวนาได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับแนวโน้มพัฒนาการด้านเทคโนโลยีในอนาคตและผลกระทบต่อระบบการเงิน โดยเห็นว่าในอนาคตการเข้าถึงเทคโนโลยีต่างๆ จะเป็นไปได้ง่ายขึ้น และภาคการเงินมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินธุรกิจและให้บริการลูกค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ร่วมเสวนาเห็นประโยชน์จากเทคโนโลยีต่อระบบการเงินในการเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มการเข้าถึง (access) ได้ สามารถสนองตอบความต้องการของสังคม รวมทั้งเอื้อให้เกิดการแข่งขันในตลาดจากการที่บริษัทขนาดเล็กสามารถใช้เทคโนโลยีในการเข้าแข่งขันในตลาดได้มากขึ้น
อย่างไรก็ดี การพัฒนาของเทคโนโลยีนำมาซึ่งความเสี่ยงที่ผู้กำกับดูแลควรตระหนักถึง เช่น การใช้เทคโนโลยีโดยผู้เล่นในภาคการเงินที่ขาดความเข้าใจในเทคโนโลยีนั้นอย่างแท้จริง ความเสี่ยงจากการพึ่งพาผู้ให้บริการเทคโนโลยีที่อาจมีการกระจุกตัว ความเสี่ยงด้านไซเบอร์และอาชญากรรมด้านไซเบอร์ (cyber risk and cybercrime) ที่สูงขึ้น ความเสี่ยงต่อความเป็นส่วนตัว (privacy) และการรั่วไหลของข้อมูล เป็นต้น ซึ่งผู้กำกับดูแลควรมีแนวทางในการเสริมสร้างความเชี่ยวชาญเพื่อให้สามารถกำกับดูแลได้อย่างเท่าทัน
นอกจากนี้ผู้ร่วมเสวนาได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของข้อมูลซึ่งจะมีความสำคัญมากขึ้นจากการพัฒนาของเทคโนโลยี โดยเห็นว่าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลซึ่งจะช่วยให้ภาคการเงินสามารถใช้ข้อมูลเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนได้ อาทิ ช่วยให้ประชาชนมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้นในต้นทุนที่เหมาะสม
ผู้ร่วมเสวนากล่าวถึงสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency : CBDC) ว่ามีหลายประเทศอยู่ในช่วงการทดสอบหรือทดสอบเสร็จสิ้นแล้ว โดยในปัจจุบันมีการศึกษาและทดลองการใช้งานในธุรกรรมโอนเงินระหว่างประเทศ (cross-border) การใช้งานระหว่างสถาบันการเงิน (wholesale) และการใช้สำหรับรายย่อย (retail) ซึ่งการใช้งานสำหรับธุรกรรมโอนเงินระหว่างประเทศ และการใช้งานระหว่างสถาบันการเงินนั้นมีประโยชน์ที่ชัดเจนในหลายด้าน เช่น การลดระยะเวลาและต้นทุนการทำธุรกรรม เพิ่มความโปร่งใสของธุรกรรม รวมถึงสามารถรองรับการใช้งานในรูปแบบอื่นที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ เช่น ธุรกรรมการโอนสินทรัพย์ในโลกจริงที่ถูกแปลงให้อยู่ในรูปแบบสินทรัพย์ดิจิทัล หรือโทเคน (tokenized asset) ระหว่างประเทศ ในขณะที่การใช้งาน CBDC สำหรับรายย่อยนั้นอาจยังมีรูปแบบและแนวทางการใช้งานไม่ชัดเจนนัก แต่ธนาคารกลางควรมีความพร้อมเพื่อรองรับการพัฒนาใช้งานจริงได้เช่นกัน ทั้งนี้ การใช้งาน CBDC สำหรับรายย่อยอาจช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินสำหรับประเทศที่ประชาชนยังไม่สามารถเข้าถึงระบบการชำระเงินในปัจจุบันได้
ทั้งนี้ อุปสรรคสำคัญของการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ภาคการเงินนั้น อาจไม่ได้เกิดจากข้อจำกัดของความสามารถในการเข้าถึงหรือการทำงานร่วมกัน (interoperability) แต่อาจเกิดจากการขาดแรงจูงใจของผู้ให้บริการทางการเงินที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้ การวางบทบาทของผู้ให้บริการแต่ละราย และกฎหมายและหลักเกณฑ์ โดยเฉพาะในธุรกรรมระหว่างประเทศ ซึ่งแต่ละประเทศอาจมีหลักเกณฑ์ที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ดี การกำหนดกฎหมายและหลักเกณฑ์อาจไม่ได้เป็นหน้าที่ของภาครัฐหรือผู้กำกับดูแลเพียงอย่างเดียว แต่ภาคเอกชนเองควรมีบทบาทในการกำกับดูแลตนเอง (self-governing) เช่นกัน
Kevin Rudd in conversation with Tao Zhang : Asia in 2050
Dr.Rudd มองว่าภูมิภาคเอเชียยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ดี โลกกำลังเผชิญความเสี่ยงที่สำคัญในระยะปานกลางจากแรงกดดันด้านภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitical tensions) และความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (climate change) โดยชี้ว่าการแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่หากได้รับการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ (managed strategic competition) จะสามารถจำกัดความเสี่ยงของการปะทุของความขัดแย้งและผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นได้ รวมถึงอาจยังสามารถสร้างพื้นที่เพื่อสร้างความร่วมมือในบางด้านได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการรักษาเสถียรภาพระบบการเงินโลกผ่านธนาคารกลางทั่วโลกซึ่งอยู่บนหลักการเดียวกัน ถึงแม้ว่าในปัจจุบันแรงกดดันภูมิศาสตร์จะยังไม่รุนแรงถึงขั้นสงครามเย็นในอดีต แต่ได้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อกระแสโลกาภิวัตน์ (globalization) และความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจการค้า
ทั้งนี้ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศ (อาทิ UN G20 WTO IMF และ WB) ซึ่งมี mandates อยู่เหนือ national interests จำเป็นต้องช่วยสนับสนุน globalization ในฐานะ global public goods ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมพัฒนาการเศรษฐกิจโลกในหลายทศวรรษที่ผ่านมา
สำหรับการเตรียมพร้อมเศรษฐกิจเพื่อรองรับผลกระทบจาก climate change แม้ว่าภูมิภาคเอเชียนับเป็นสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของ global CO2 emission (ประมาณการสำหรับปี 2025) แต่การปรับตัวไปใช้พลังงานหมุนเวียนค่อนข้างล่าช้ากว่าภูมิภาคอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ในระยะที่ผ่านมา เอเชียมีพัฒนาการที่ดีขึ้นในด้านนี้ โดยเฉพาะทิศทางนโยบายของประเทศขนาดใหญ่ อาทิ จีน อินเดีย และอินโดนีเซีย ซึ่งสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจโดยให้ความสำคัญกับความยั่งยืน และการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (green transition) มากขึ้น นับเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจของทั้งภูมิภาค.-สำนักข่าวไทย