สาธารณรัฐปานามา 24 พ.ย.- กรมอุทยานแห่งชาติฯ เผยที่ประชุม CITES CoP19 ไม่เห็นด้วยการปรับลดบัญชีจระเข้น้ำจืดไทย เนื่องจากมีข้อห่วงกังวลในประเด็นประชากรจระเข้ในธรรมชาติมีจำนวนน้อยมากและอยู่อย่างกระจัดกระจาย
นายประเสริฐ สอนสถาพรกุล ผู้อำนวยการกองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่าการประชุมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ครั้งที่ 19 (CITES CoP19) ได้เข้าสู่สัปดาห์ที่สอง โดยภาคี 145 ประเทศ จาก 184 ประเทศ เข้าร่วมการประชุม หลังได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 14 – 25 พฤศจิกายน 2565 ณ ปานามา คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ กรุงปานามา ซิตี้ สาธารณรัฐปานามา
การประชุมในครั้งนี้ประเทศไทย โดยกรมประมงได้เสนอขอปรับลดบัญชีจระเข้น้ำจืดไทย (Siamese crocodile) จากบัญชี 1 เป็นบัญชี 2 ปรากฏว่า ข้อเสนอนี้ไม่ผ่านการรับรองของที่ประชุม โดยมี 27 ประเทศสนับสนุนเช่น จีน ลาว กัมพูชา มาเลเซีย สิงคโปร์ อเมริกาใต้ ซิบบับเว มี 76 ประเทศที่ไม่เห็นด้วยเช่น สหภาพยุโรป อังกฤษ อเมริกา อินโดนีเซีย และ 20 ประเทศงดออกเสียงเช่น ญี่ปุ่น มัลดีฟ เนปาล UAE สาเหตุที่มีภาคึไม่เห็นด้วยเนื่องจากห่วงกังวลในประเด็นประชากรจระเข้ในธรรมชาติมีจำนวนน้อยมากและอยู่อย่างกระจัดกระจาย ซึ่งยังอยู่ภายใต้เงื่อนไขทางชีววิทยาสำหรับชนิดพันธุ์ในบัญชี 1 ถึงแม้ไทยจะสามารถเพาะเลี้ยงจระเข้ในฟาร์มได้มากกว่า 1.2 ล้านตัวก็ตาม
ทั้งนี้ ภายหลังจากการโหวต ประเทศไทยได้ขอให้สำนักเลขาธิการไซเตสตั้งคณะผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้ข้อแนะนำแก่ไทยในการกำหนดแนวทางในการดำเนินงานที่จะสนับสนุนให้สามารถปรับลดบัญชีลงมาเป็นบัญชี 2 ได้ในอนาคต หรือแนวทางอื่นในการสนับสนุนการค้าจระเข้ที่ได้จากการเพาะเลี้ยงให้มีศักยภาพเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้การค้าสัตว์ป่าและพืชป่าและผลิตภัณฑ์ระหว่างประเทศตามระบบของไซเตส จะถูกควบคุมโดยระบบใบอนุญาต (Permit) และหนังสือรับรอง (Certificate) ในการนำเข้า (Import) ส่งออก (Export) ส่งกลับออกไป (Re-export) และนำเข้าจากทะเล (Introduction from the Sea)
สำหรับชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่าและพืชป่าที่อนุสัญญาไซเตสควบคุม (CITES species) จะระบุไว้ในบัญชีหมายเลข 1 2 และ 3 (Apendices) ดังนี้
- บัญชี 1 เป็นชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ห้ามค้าโดยเด็ดขาด ยกเว้นเพื่อการศึกษา วิจัย หรือเพาะพันธุ์ ซึ่งต้องได้รับความยินยอมจากประเทศที่จะนำเข้าเสียก่อน ประเทศส่งออกจึงจะออกใบอนุญาตส่งออกได้ ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงความอยู่รอดของชนิดพันธุ์นั้นๆ ด้วย ตัวอย่างชนิดพันธุ์ในบัญชี 1 เช่น ช้างเอเชีย เสือโคร่ง ลิงอุรังอุตัง จระเข้น้ำจืด จระเข้น้ำเค็ม เต่ามะเฟือง ปลายี่สกไทย เป็นต้น
- บัญชี 2 เป็นชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่าและพืชป่าที่ยังไม่ใกล้สูญพันธุ์ สามารถค้าได้ แต่ต้องมีการควบคุมเพื่อป้องกันไม่ให้มีการใช้ประโยชน์ที่มากเกินไปจนส่งผลกระทบต่อการอยู่รอดของชนิดพันธุ์ ทั้งนี้ ชนิดพันธุ์ในบัญชี 2 ยังครอบคลุมถึงชนิดพันธุ์ที่มีความคล้ายคลึงกัน (look-alike) โดยประเทศส่งออกจะต้องออกใบอนุญาตส่งออกเพื่อรับรองว่าการส่งออกแต่ละครั้ง จะไม่กระทบต่อการดำรงอยู่ของชนิดพันธุ์นั้นๆ ในธรรมชาติ ตัวอย่างชนิดพันุธุ์ในบัญชี 2 เช่น ลิ่น อีเห็นลายพาด นกขุนทอง เต่านา งูเหลือม เป็นต้น
- บัญชี 3 เป็นชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่าและพืชป่าที่ได้รับการคุ้มมครองตามกฎหมายของภาคีใดภาคีหนึ่งอยู่แล้ว และต้องการขอความร่วมมือจากภาคีอื่นๆ ช่วยควบคุมการค้าด้วย ตัวอย่างชนิดพันุธุ์ในบัญชี 3 เช่น ควายป่า (เนปาล) นกกระทาดงปักษ์ใต้ (มาเลเซีย) เต่าอัลลิเกเตอร์ (สหรัฐอเมริกา) หอยเป๋าฮื้อแอฟริกาใต้ (แอฟริกาใต้) เป็นต้น
ดังนั้นกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชจึงกำหนดชนิดสัตว์ป่าและซากของสัตว์ป่าที่ต้องได้รับอนุญาต ใบอนุญาต หรือใบรับรอง ก่อนการนำเข้าหรือส่งออก ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์ป่าและซากของสัตว์ป่าที่ห้ามนำเข้าหรือส่งออก ฉบับลงวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2566 เพื่อประโยชน์ในการควบคุมตรวจสอบการนำเข้าหรือส่งออกสัตว์ป่า ซากของสัตว์ป่า และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่า ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งจะมีการปรับปรุงบัญชีภายหลังการประชุมภาคีอนุสัญญาไซเตส (Conference of Parties: CoP) ในแต่ละครั้ง.-สำนักข่าวไทย