รัฐสภา 1 พ.ค. –ที่ประชุมสปท.ผ่านกม.คุมสื่อ ขณะที่กมธ.ยอมตัด บทลงโทษสื่อที่ไม่ขึ้นทะเบียน ให้มีใบรับรองแทนใบประกอบวิชาชีพ
การประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) วันนี้ (1พ.ค.)เริ่มขึ้น เวลา 9.30 น. มีร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธานสปท.เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน จำนวน 2 เรื่อง คือ รายงานการปฏิรูปการสื่อสารมวลชน ที่เสนอให้มีร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ….ซึ่งก่อนเข้าสู่วาระการประชุม สมาชิกหลายคนแสดงความเห็น โดยประธานสปท.แสดงความเห็นส่วนตัวว่า สื่อควรมีใบรับรองจากสภาวิชาชีพเพื่อกำกับดูแลกันเองได้
ขณะที่นายกษิต ภิรมย์ สมาชิก สปท. กล่าวว่า 1 สัปดาห์ที่ผ่านมามีปฏิกิริยาคัดค้าน จึงเห็นว่าโดยหลักการสื่อต้องดูแลตัวเอง ต้องมีความเป็นอิสระ ไม่มีการแทรกแซงจากอำนาจรัฐ และต้องเคารพสิทธิเสรีภาพอย่างจริงจัง
ด้านพล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชนรายงานสาระสำคัญว่า การจัดทำรายงานดังกล่าว เพื่อให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนทำหน้าที่ตามมาตรฐานวิชาชีพและมีจริยธรรม มีสิทธิเสรีภาพบนความรับผิดชอบต่อสังคมภายใต้การกำกับดูแลกันเอง และเพื่อให้ประชาชนได้รับความคุ้มครองจากการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนและบริโภคสื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจาก 20 ปีที่ผ่านมาสื่อขาดกฎหมายรองรับการทำงาน ขณะเดียวกันมุ่งเน้นตั้ง “สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ”(มาตรา5) เพื่อเป็นองค์กรกลางส่งเสริม สนับสนุนให้เกิดการกำกับดูแลกันเองของวิชาชีพสื่อมวลชน กำกับกันเองโดยองค์การวิชาชีพสื่อ และกำกับดูแลร่วมโดยสภาวิชาชีพสื่อมวลชน
“กรรมาธิการฯ ยอมปรับเปลี่ยนใบอนุญาตวิชาชีพสื่อเป็นใบรับรองแทนโดยตัดมาตรา 99 ที่เกี่ยวข้องกับการขึ้นทะเบียนสื่อ และตัดมาตรา 91 92 ว่าด้วยเรื่องกำหนดบทลงโทษผู้ไม่มีอนุญาตและองค์กรที่รับบุคคลที่ไม่มีใบอนุญาตเข้าทำงาน จากเดิมที่กำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 3ปี ปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท” พล.อ.อ.คณิต กล่าว
ขณะที่พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ ชี้แจงความจำเป็นในการมีคณะกรรมการวิชาชีพและกรรมการจริยธรรมสื่อมวลชน ที่จะเข้ามากำกับดูแลการทำหน้าที่ของสื่อ เนื่องจากปัจจุบันโลกเปลี่ยนไป มีสื่อที่เข้ามาแฝงการทำงานมากมาย โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ที่เผยแพร่ไปอย่างรวดเร็วและสร้างความเสียหายในวงกว้าง พร้อมยืนยันคำนิยามสื่อมวลชนว่าจะครอบคลุมผู้ที่ทำเว็บเพจต่างๆ ที่ทำธุรกิจเพื่อรายได้ด้วย ทั้งนี้ จะไม่ถอยการพิจารณาร่างกฎหมายนี้อีกแล้ว เพราะถอยมาแล้วถึง 3 ครั้ง
“สำหรับสัดส่วน คณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ประกอบด้วย ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ผู้แทนผู้บริโภค กรรมสิทธิ์มนุษยชน กรรมการอื่นๆอีก 4 คน และผู้แทนสภาวิชาชีพ 7 คน รวม 15 คน ดำรงตำแหน่งวาระละ 3 ปี แต่ช่วงจัดตั้ง2ปีแรก กำหนดไว้ 13 คน โดยคณะกรรมการฯ มีหน้าที่ออกกฎ มาตรฐานกลาง รับเรื่องร้องเรียน” พล.ต.ต.พิสิษฐ์ กล่าว
สำหรับการอภิปรายของสมาชิกสปท.สายสื่อมวลชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการออกฎหมายคุมสื่อ โดยนายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิก สปท. อภิปรายแสดงความเห็นด้วยกับการมีสภาวิชาชีพสื่อมวลชน โดยมีสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเป็นอิสระ เพื่อให้เกิดการปฏิรูปสื่อ และบังคับใช้จริยธรรมวิชาชีพได้อย่างแท้จริง โดยสนับสนุนให้สื่อควบคุมกันเอง แบบมีสภาพกฎหมายบังคับ แต่ไม่เห็นด้วย 3 ประเด็น คือ การมีเจ้าหน้าที่ภาครัฐเข้าร่วมในสภาวิชาชีพ การบัญญัติความบังคับให้ผู้ประกอบวิชาชีพต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพหรือใบรับรอง โดยสภาวิชาชีพที่มีเจ้าหน้าที่รัฐอยู่ในสภาวิชาชีพ และไม่เห็นด้วยกับการนิยามสื่อมวลชนในร่างกฎหมายกว้างเกินไป ซึ่งอาจกระทบต่อการแสดงความคิดเห็นของประชาชนที่อยู่นอกวิชาชีพสื่อ และขอให้กลับไปใช้ร่างที่ผ่านสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) เป็นต้นร่างพิจารณากฎหมายสื่อ
นายคำนูณ กล่าวว่า การกำหนดให้มีสัดส่วนเจ้าหน้าที่รัฐในสภาวิชาชีพสื่อ อาจขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 35 เพราะถือเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน พร้อมเสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการชุดพิเศษติดตามการแก้ไขรายงานของกรรมาธิการ และเสนอให้แยกการลงมติ เช่นเห็นด้วยหรือไม่ให้มีสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ
ขณะที่นายนิกร จำนง สมาชิก สปท. กล่าวว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นการควบคุมสื่อมากกว่าคุ้มครองสื่อ และเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 34 เรื่องเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น ทั้งเชื่อว่าจะมีการยื่นร้องศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความ เพราะอาจขาดการรับฟังความคิดเห็นอย่างเป็นระบบตามมาตรา77
พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ กล่าวสนับสนุนให้มีกฎหมายควบคุมสื่อและเร่งปฏิรูปสื่อ เพราะเล็งเห็นความจำเป็นในการควบคุมสื่อโดยเฉพาะสื่อออนไลน์ พร้อมเปรียบเทียบให้เห็นระหว่างวิชาชีพแพทย์กับสื่อว่าไม่เหมือนกันเพราะแพทย์มีหน้าที่รักษาพยาบาล ต้องมีการควบคุมการทำงานหากเกิดความผิดพลาด แต่สื่อบทลงโทษและจริยธรรมเป็นเรื่องยาก กรณีที่สื่อทำความเสียหายต่อสังคม
“ทุกวันนี้สื่อเอาคลิปมาตัดต่อ ด่าสิ่งในคลิปที่นำเสนอ ซึ่งคุมยากมาก และเขียนข้อกำหนดในเรื่องเหล่านี้ยาก แต่เป็นเรื่องใหญ่ที่ทำลายสังคม สภาวิชาชีพ มีหน้าที่คุ้มครองประชาชนและสังคม สิ่งที่พูดถึงคือองค์ประกอบของคณะกรรมการค่อนข้างยาก และมีบทเรียนว่าพวกเดียวกันเองเป็นกรรมการสภาวิชาชีพยังมีปัญหา และเป็นแหล่งของผลประโยชน์ ไม่สามารถทำหน้าที่คุมผลประโยชน์ได้ เช่น แพทยสภาไม่มีคนอื่นเข้ามา หลักถูกหรือไม่ ถ้ามีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเป็นกรรมการ” พญ.คุณหญิงพรทิพย์ กล่าว
นายวรวิทย์ ศรีอนันต์รักษา กล่าวว่า สื่อไม่ใช่ฐานันดรที่ 4 และไม่ได้เป็นดั่งคำเปรียบเทียบว่าสื่อเป็นแมลงวันที่ไม่ตอมแมลงวันด้วยกัน เพราะที่ผ่านมาองค์กรวิชาชีพสื่อลงโทษที่กระทำขัดต่อมาตรฐานทางจริยธรรมไป 2 คน ขับออกจากอาชีพสื่อมวลชนคือกรณีการรับทรัพย์และกรณีบิดเบือนข่าว
พล.ท.ธวัชชัย สมุทรสาคร สปท. อภิปรายเห็นด้วยกับการตีทะเบียนสื่อมวลชน เพราะสื่อถือเป็นคนไทย ไม่ใช่อภิสิทธิชน จึงต้องยอมรับกติกาและกฎหมาย ทั้งนี้ หลายประเทศมีกฎหมายลักษณะเดียวกันนี้ อาทิ สิงคโปร์ จีน ขณะเดียวกันระบุว่า เป็นผู้หนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการนำเสนอของสื่อมวลชนที่นำเสนอข่าวโดยไม่ไตร่ตรอง
“ขนาดวันก่อน ผมอ่านสื่อออนไลน์ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส อดีตผบ.ตร. ให้สัมภาษณ์ด่าทหารประจำ ไม่รู้อยากเล่นการเมืองหรือไม่ อยู่ดี ๆ มาบอกว่าถ้าเอาก้อนหินปาไปในค่ายทหารโดนแต่หัวพลเอก แล้วยังถามว่ารถถังซื้อมาทำไม เคยไปรบหรือไม่ เขาเป็นรุ่นพี่ ผมเป็นเตรียมทหารรุ่น 12 พี่เขารุ่น 7 พูดแบบนี้ผมไม่เคารพกันแล้ว แล้วสื่อที่เผยแพร่ก็น่าเอายิงเป้าให้หมด ปัญหาภาคใต้ก็รายงานกันทุกวัน สิ่งที่สร้างความเสียหายไม่ควรรายงาน อย่างกรณีผู้ว่าแม่ฮ่องสอนยังไม่ได้ข้อสรุปก็นำเสนอกัน ฟังแล้วผมทนไม่ได้” พล.อ.ธวัชชัย กล่าว
พล.ต.ท. อำนวย นิ่มมะโน กล่าวว่า สิ่งแรกที่ต้องทำคือสื่อต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลง พร้อมเห็นควรให้มีสภาวิชาชีพสื่อ เพราะผ่านมาสื่อไม่ได้คำนึงถึงหน้าที่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังสมาชิกอภิปรายอย่างกว้างขวาง ในที่สุดมีมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวด้วยคะแนน 141 ต่อ 13 เสียง งดออกเสียง 17.-สำนักข่าวไทย