กรุงเทพฯ 1 พ.ค. – รมว.เเรงงาน ย้ำผู้ใช้เเรงงานทุกคนไม่ตกงาน ส่วน 5 ข้อเสนอกำลังเร่งดำเนินการ ปีนี้คืบหน้าเเก้ปัญหาเเรงงานนอกระบบเกือบ 20 ล้านคน
บรรยากาศหน้าอาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) มีตัวเเทนองค์กรลูกจ้างเเละผู้ใช้เเรงงานจำนวนมากเดินทางมายื่นเสนอ เเละรับฟังเเนวทางการช่วยเหลือเเรงงานของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่เดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดงานวันเเรงงานเเห่งชาติ ปี 2560
พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเเรงงาน กล่าวว่า ภาพรวมของข้อเรียกร้องทั้ง 5 ข้อปีนี้ เป็นสิ่งที่กระทรวงเเรงงานกำลังเร่งดำเนินการ ทั้งการคุ้มครองเเรงงานเเละเพิ่มสิทธิประโยชน์ มีการเเก้ไขยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ โดยสิ่งที่จะเห็นเป็นรูปธรรมมากที่สุดปีนี้ คือ การเเก้ปัญหาเเรงงานนอกระบบที่มีกว่า 20 ล้านคน โดยทุกข้อจะดำเนินการให้เเล้วเสร็จภายในรัฐบาลนี้, เรื่องประกันสังคม มีความสำเร็จในการปรับเเก้มาตรา 39 นำผู้ประกันตนที่หลุดจากการเป็นผู้ประกันตนกลับเข้ามาในระบบ รวมถึงมีการเเก้ไขมาตรา 40 เพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับเเรงงานนอกระบบ อาทิ การเพิ่มเงินชดเชยการขาดรายได้จากการเจ็บปวด เเละเพิ่มค่าทำศพ, เเรงงานฝีมือ ที่ไทยจะเข้าสู่ยุคไทยเเลนด์ 4.0 จะพัฒนาทักษะฝีมือเเรงงานกลุ่มต่างๆ ให้มีความสามารถเเละศักยภาพเพิ่มขึ้น
รมว.แรงงาน ยังย้ำว่า เเรงงานทุกคนไม่ต้องห่วงว่าจะตกงาน เพราะกระทรวงเเรงงานเเละรัฐบาลให้ความสำคัญกับพี่น้องผู้ใช้เเรงงาน เพราะถือเป็นกลุ่มอาชีพที่ช่วยพัฒนาเเละขับเคลื่อนประเทศไทย ส่วนงานวันนี้เป็นโอกาสดีที่ได้พบปะเเละรับฟังปัญหาจากพี่น้องผู้ใช้เเรงงานทุกคน เเละได้ทบทวนบทบาทการทำงานในรอบ 1 ปี ว่าได้ช่วยเหลือพี่น้องมากน้อยเพียงใด
ขณะที่นายชินโชติ แสงสังข์ ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ข้อเรียกร้องวันเเรงงานเเห่งชาติ ปี 60 มีดังนี้ 1. ให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การเเรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 เเละ 98
2.ให้รัฐบาลปฏิรูปสำนักงานประกันสังคม ดังนี้ ให้รัฐบาลยกสถานะสำนักงานประกันสังคมเป็นองค์กรอิสระ ให้ รมว.เเรงงาน เเก้ไขกฎกระทรวงเกี่ยวกับบัตรรับรองสิทธิให้ใช้ได้ทุกโรงพยาบาล, กรณีลูกจ้างเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุอันเนื่องมาจากการทำงาน เมื่อลูกจ้างใช้สิทธิกองทุนเงินทดเเทนครบตามหลักเกณฑ์เเล้ว ให้ลูกจ้างมีสิทธิใช้กองทุนประกันสังคมต่อได้, ผู้ประกันตนมาตรา 39 เเละ 40 ให้มีสิทธิเข้าเป็นสมาชิกกองทุนเงินออมเเห่งชาติได้, ให้รัฐมนตรีประกาศคืนสิทธิผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ที่ขาดจากการเป็นผู้ประกันตนเข้าขึ้นทะเบียนได้ใหม่ ตามระยะเวลาที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด, ให้เเก้ไขหลักเกณฑ์การจ่ายค่ารักษาพยาบาลทางการเเพทย์กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินเเละอุบัติเหตุให้เท่าที่จ่ายจริง เเละให้เเก้ไขหลักเกณฑ์การจ่ายเงินทดเเทนกรณีขาดรายได้จากอุบัติเหตุ เนื่องจากการทำงานเดิมร้อยละ 60 เพิ่มเป็นร้อยละ 100 ของค่าจ้าง
3.ให้กระทรวงเเรงงานเร่งปรับปรุงกฎหมายเพื่อการคุ้มครอง ส่งเสริมเเละพัฒนาคุณภาพชีวิตเเรงงานนอกระบบให้มีประสิทธิภาพสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของเเรงงานนอกระบบเเละหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
4.ให้รัฐบาลสนับสนุนเเละผลักดันกฎหมายพัฒนารัฐวิสาหกิจ เเละยุตินโยบายการเเปรรูปหรือแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจให้เป็นบริษัทเอกชน หรือยุบรัฐวิสาหกิจ เเละให้รัฐบาลยกเว้นการเก็บภาษีเงินได้กรณีค่าชดเชยเเละเงินตอบเเทนความชอบของพนักงานรัฐวิสาหกิจ รวมถึงเงินได้อื่นๆ ซึ่งเป็นเงินงวดสุดท้ายของลูกจ้าง เเละ 5.ให้รัฐบาลตราพระราชกฤษฎีกาการจัดเก็บเงินสะสมเเละเงินสมทบเพื่อเป็นกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ตามบทบัญญัติว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์ มาตรา 163 เเห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองเเรงงาน พ.ศ. 2541
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีเเรงงานบางส่วนจากสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย รวมตัวเพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลในการดูแลสิทธิ สวัสดิการของแรงงาน ซึ่งมีแกนนำสับเปลี่ยนกันขึ้นกล่าวถึงความสำคัญของแรงงานและวันแรงงานแห่งชาติ ซึ่งมีใจความตอนหนึ่งเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งดำเนินการจัดการเลือกตั้ง เพื่อให้ประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสังคมประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เนื่องจากความเป็นประชาธิปไตยมีส่วนสำคัญอย่างมากกับชีวิตของแรงงานและคนไทย เศรษฐกิจไม่ดีต้องแก้ด้วยการเลือกตั้ง
นายบรรจง บุญรัตน์ รองประธานจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2560 กล่าวว่า สำหรับข้อเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งนั้น เป็นเรื่องที่ทางแรงงานยกขึ้นมา เพื่อที่จะแสดงออกให้รัฐบาลเร่งรัดการจัดการเลือกตั้ง มีผลต่อเศรษฐกิจของประเทศ มีความสำคัญต่ออนาคตของลูกจ้าง ปัจจุบันงานภาคเกษตรอุตสาหกรรมย่ำเเย่ แรงงานก็แย่ตาม ขณะนี้ลูกจ้างมีแนวโน้มตกงานมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งนั้น เป็นเพียงการแสดงออกของแรงงานที่อยากจะพูดเท่านั้น ไม่ได้บรรจุเข้าไปเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องการดูแลสิทธิสวัสดิการของแรงงานแต่อย่างใด ข้อเรียกร้องที่จะยื่นต่อนายกฯ ยังเป็นข้อเรียกร้องเดิม
“ตอนนี้มีการพูดถึงไทยแลนด์ 4.0 จะเอาเทคโนโลยีเข้ามาทดแทนกำลังคน แต่ยังไม่เห็นมาตรการรองรับแรงงานที่จะตกงาน อาจจะมีก็ขอให้ชี้แจงออกมา ส่วนการพัฒนายกระดับฝีมือแรงงานนั้น ต้องถามว่าปีหนึ่งเพิ่มได้กี่คน ไม่เกินหมื่นคน ลูกจ้างบางส่วนติดปัญหาไม่ได้รับอนุญาตจากแรงงานในการออกมาอบรมเพิ่มศักยภาพจากภายนอก การเข้าไปพัฒนาศักยภาพในสถานที่ทำงานก็ทำได้ยาก ดังนั้น ขอเรียกร้องให้เพิ่มตรงนี้ด้วย” นายบรรจง กล่าว.-สำนักข่าวไทย