กรุงเทพฯ 8 พ.ย.-เอ็กโก กรุ๊ป พร้อมชิงเค้กพลังงานทดแทน 5 พันเมกะวัตต์ พุ่งเป้าโซลาร์ฟาร์ม เร่งขยายพอร์ตพลังงานสะอาด รับเทรนด์ลดโลกร้อน
นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ผลิตไฟฟ้า หรือ EGCO เปิดเผยว่า บริษัทเตรียม เสนอโครงการพลังงานทดแทน ที่ภาครัฐกำลังเปิดเสนอราคา กำลังผลิตรวมราว 5,000 MW โดยจะเสนอในส่วนของโครงการไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar) กว่า 1,000 MW และเตรียมขยายพอร์ตสัดส่วนการลงทุนพลังงานสะอาดเพิ่มเติม เช่น ลงทุนในบริษัท “เอเพ็กซ์ คลีนเอ็นเนอร์ยี โฮลดิ้งส์” ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีพอร์ตผลิตไฟฟ้าพลังงานโซลาร์ฯและลมกว่า 40,000 เมกะวัตต์ การศึกษาเรื่องของเทคโนโลยี CCUS ,แบตเตอรี่ และไฮโดรเจน รวมถึง การลงทุนเซลล์เชื้อเพลิง(Fuel Cell) และการผลิตไฟฟ้าจาพเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดเล็กที่สามารถผลิตกำลังไฟฟ้าในระบบที่ต่ำกว่า 300 เมกะวัตต์
“แผนปี 65 บริษัทได้มองหาอีกหนึ่งทางเลือกที่จะมาเสริมในด้านของพลังงานหมุนเวียน ซึ่งเป็นพลังงานสะอาด โดยวางแผนนำไฮโดรเจน (Hydrogen)ต้นแบบ ที่จะเป็นพลังงานสะอาด คาดว่าจะดำเนินงานแล้วเสร็จในปี 66 กำลังผลิตรวมราว 3-4 MW และ ศึกษาเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดเล็ก (Small modular Reactor) ที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้าในระบบต่ำกว่า 300 MW ”นายเทพรัตน์กล่าว
ปัจจุบันเอ็กโก กรุ๊ป มีกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนรวมกว่า 1,424 MW คิดเป็น 24% จากกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 6,000 MW ทั้งนี้ภายในปี 65 บริษัทมีแผนเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนรวมไม่ต่ำกว่า 30%
นอกจากนี้ บริษัทวางเป้าหมายในระยะยาว (ปี 2565-2593) เพื่อลดก๊าซเรือนกระจก โดยจะเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน อย่างน้อย 50% ภายในปี 2593 และสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น คิดเป็น 70% ภายในปี 2578 รวมถึงยุติการใช้ถ่านหินเป็นพลังงาน
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน และประธานกรรมการ เอ็กโก กรุ๊ป กล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน “EGCO Group Forum 2022: Carbon Neutral Pathway ปฏิบัติการสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน” ว่า สถานการณ์การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของประเทศไทย ปี2565 อยู่ที่ 131.8 ล้านตันคาร์บอน เพิ่มขึ้น 6.7% ภาคพลังงานและภาคอุตสาหกรรม มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ สูงเท่ากับอยู่ที่ประมาณ 32% หรือกว่า 42 ล้านตันคาร์บอน ภาคขนส่ง ปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ อยู่ที่ 30% และภาคอื่นๆ อีก 7% รวมแล้วภาคพลังงานและภาคขนส่ง มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ รวมกันอยู่ที่ 62% ถือเป็นสัดส่วนที่สูง เนื่องจากรถที่ใช้ในประเทศไทย ส่วนใหญ่ 97-98% ยังเป็นเครื่องยนต์สันดาปที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมันเชื้อเพลิง ขณะที่ ประเทศไทย มีเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี พ.ศ. 2593(ค.ศ.2050) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHGs Emission) ในปี พ.ศ. 2608 (ค.ศ.2065)
ดังนั้น ก.พลังงานจึงจัดทำกรอบแผนพลังงานแห่งชาติ(National Energy Plan: NEP) ที่คาดว่า จะแล้วเสร็จในช่วงปลายปีนี้ หรือ ต้นปีหน้า กำหนดสัดส่วนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ไม่ต่ำกว่า 50% จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 23-24% ของกำลังการผลิตไฟฟ้า โดยจะไม่มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มขึ้นในอนาคต
ส่วนภาคขนส่ง มุ่งส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี) ที่รัฐบาลได้มีมาตราการสนับสนุนการซื้อรถ ทำให้ราคารถอีวี ลดลงคันละ 2 แสนบาท และต่อไปก็จะดูเรื่องของแบตเตอรี่เพิ่มเติมเพื่อให้เกิดการลงทุนผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งาน ซึ่งจะเห็นว่าในปีนี้ ยอดขายรถอีวีของประเทศเติมโตขึ้น 275% จากปีก่อน หรืออยู่ที่กว่า 10,000 คัน สะท้อนให้ว่าประชาชนให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานสะอาดตามทิศทางของโลก โดยในระยะต่อไปรัฐบาลก็จะเดินหน้าแผนขยายสถานีชาร์จไฟฟ้าให้ครอบคลุมการใช้งานมากขึ้น
นอกจากนี้ รัฐต้องดูแลเรื่องของการปรับโครงสร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานให้รองรับ 4D1E เช่น มิเตอร์ไฟฟ้า รองรับการเปลี่ยนผ่านพลังงาน ,การพัฒนาระบบไฟฟ้าที่มีการกระจายตัวและยืดหยุ่น การลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน จะมีโซลาร์เข้าระบบถึง 6,000 เมกะวัตต์ใน 20 ปีข้างหน้า พลังงานลม อีก 1,500 เมกะวัตต์ ขยะ 600 เมกะวัตต์ และไบโอแก๊สและไบโอแมส อีกประมาณ 800 เมกะวัตต์ เป็นต้น
ล่าสุด การประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เมื่อวันที่ 7 พ.ย.2565 ได้มีมติเห็นชอบแนวทางการกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้า สีเขียว (Utility Green Tariff) ในโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าขายปลีก เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด .-สำนักข่าวไทย