กรุงเทพฯ 28 ส.ค.-“เทพรัตน์” เอ็มดี เอ็กโก กรุ๊ป ว่าที่ผู้ว่าการ กฟผ. ย้ำนโยบายรัฐบาลใหม่ ลดค่าไฟฟ้า ทำได้หากเกิดการแข่งขันนำเข้า LNG มากขึ้น วอนปรับแผนพีดีพีใหม่ต้องปรับแผนสำรองไฟฟ้า ต้องคำนึงถึงพลังงานพึ่งได้ควบคู่ส่งเสริมเชื้อเพลิงไฮรโดรเจน ส่วนครึ่งปีหลังมั่นใจได้กำลังผลิตใหม่ 1,000 MW ตามแผนและ ปรับเป้าใหม่ ปักหมุด Net Zero ปี 2050
นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป กล่าวถึงนโยบายการลดค่าไฟฟ้าของรัฐบาลใหม่ว่า ค่าไฟฟ้าขึ้นอยู่กับต้นทุนเชื้อเพลิงเป็นหลัก ซึ่งในขณะนี้เป็นเรื่องที่ดีที่ต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติ โดยเฉพาะ LNG ลดลง และเมื่อรัฐบาลส่งเสริมการนำเข้าผ่าน ผู้นำเข้ารายใหม่ๆ ก็ให้เกิดการแข่งขัน ต้นทุนก็จะลดต่ำลง เป็นผลดีต่อค่าไฟ ซึ่งล่าสุด ผู้นำเข้ารายใหม่ๆ ได้มีการหารือร่วมกันว่า จะมีการนำเข้าร่วมกันเพื่อเป็นการบริหารต้นทุนทั้งค่าขนส่งและราคาก๊าซฯให้ต่ำลง
ทั้งนี้ เมื่อเปลี่ยนแปลงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ก็คาดหวังว่าจะเร่งดำเนินการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว (พีดีพี ) ฉบับใหม่ ซึ่งก็ต้องคำนึงถึง ความมั่นคง,ต้นทุนราคาที่กระทบต่อค่าครองชีกให้ต่ำที่สุด รวมทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อมเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งต้องทำ 3 สิ่งควบคู่กันไป โดยในส่วนการลดก๊าซเรือนกระจกนั้น การส่งเสริมพลังงานทดแทน เช่น ลม แสงอาทิตย์ ระบบแบตเตอรี่สำรองไฟฟ้า ก็ต้องพิจารณาว่าระบบเหล่านี้ ไม่สามารถพึ่งพาได้เต็มที่เหมือนพลังงานฟอสซิล โดยแสงอาทิตย์พึ่งพาได้ราวร้อยละ 20 ดังนั้น ระบบสำรองไฟฟ้าภาพรวมก็จะต้องเปลี่ยนแปลงไป จะดูเพียงสำรองไฟฟ้าที่ 15 % เหมือนในอดีตไม่ได้
นอกจากนี้ ในอนาคตการเปลี่ยนผ่านพลังงานมาสู่พลังงานทดแทน เชื้อเพลิงไฮโดรเจนจะมีบทบาท สำคัญ ก็ขอให้รัฐบาลพิจารณาสนับสนุนเป็นพิเศษ เพราะต้นทุนยังสูง เพื่อให้ธุรกิจเกิดขึ้นได้ก่อน เช่นเดียวกับในอดีตที่ รัฐบาลส่งเสริมพลังงานแสงอาทิตย์ด้วย ระบบ ADDER และปรับมาเป็น FIT เช่นในปัจจุบัน
ส่วน ปัญหาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เอ็กโก กรุ๊ป ได้ปรับเป้าหมายใหม่ที่ท้าทายและเข้มข้นกว่าเดิม โดยขยับเป้าหมายการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ให้เร็วขึ้นกว่าเดิม 10 ปี เป็น 2040 และเพิ่มเป้าหมายใหม่ คือ การบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 ดำเนินการทั้งไม่มีการลงทุนโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มเพิ่ม ลงทุนด้านไฟฟ้าพลังงานทดแทนและพลังงานใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีแผนงาน ลงทุนซัพพลายเชนไฮโดรเจน ในโรงไฟฟ้าฟอสซิล ควบคู่แผนศึกษาดักจับคาร์บอน ในโรงไฟฟ้า BLCP ,ขนอม ตลอดจนการผลิตกรีนไฮโดรเจนจากโรงไฟฟ้าโบโค ร็อค วินด์ฟาร์ม ของเอ็กโก กรุ๊ป ในรัฐนิวเซาท์เวลส์ ออสเตรเลีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงในการพัฒนาอุตสาหกรรมกรีนไฮโดรเจน เป็นต้น
เอ็กโก กรุ๊ป มุ่งมั่นแสวงหาโอกาสการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าและธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่องอย่างไม่หยุดยั้ง คาดจนถึงสิ้นปีจะได้กำลังผลิตใหม่ตามเป้าหมาย 1,000 เมกะวัตต์ต่อปี จากที่ขณะนี้ได้มาแล้วกว่า 100 เมกะวัตต์ ซึ่งขณะนี้กำลังเจรจาใน2 โครงการในสหรัฐ รวมทั้งโครงการในอาเซียน
ส่วนโครงการใน สปป.ลาว 3 โครงการ ทั้งไซยะบุรี,น้ำเทิน 1และน้ำเทิน 2 คาดกำลังผลิตจะใกล้เคียงกับปีที่แล้ว และรายได้เป็นเงินบาทและเงินดอลลาร์สหรัฐ จึงไม่ได้รับผลกระทบจากเงินกีบอ่อนค่า โดยส่วนที่กระทบคือ รายได้ของพนักงาน ในสปป.ลาวที่จะได้รับการจ่ายค่าจ้าง เงินเดือนเป็นเงินกีบ ในเรื่องนี้ทาง บริษัทก็มีแผนจะช่วยลดผลกระทบของพนักงานด้วย
นายเทพรัตน์ กล่าวว่า การลงทุนสำคัญที่ช่วยส่งเสริมให้เอ็กโก กรุ๊ป มุ่งสู่การบรรลุ Net Zero 2050 ได้ตามแผน คือการลงทุนในเอเพ็กซ์ ซึ่งเป็นผู้พัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกา โดยในปี 2023 เอเพ็กซ์มีโครงการที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้ว 2 โครงการ กำลังผลิตรวม 294 เมกะวัตต์ และโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 5 โครงการ กำลังผลิตรวม 657 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทยอยแล้วเสร็จระหว่างปี 2023-2025 แบ่งเป็น โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ 2 โครงการ ในรัฐเท็กซัส โครงการพลังงานลม 1 โครงการ ในรัฐเมน และโครงการระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ 2 โครงการ ในรัฐเท็กซัส ในขณะเดียวกัน ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาอีกจำนวนมากถึง 242 โครงการ กำลังผลิตรวม 53,767 เมกะวัตต์
สำหรับผลการดำเนินงานในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2023 เอ็กโก กรุ๊ป มีกำไรสุทธิจำนวน 3,482 ล้านบาท เพิ่มขึ้น4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ภาพรวมผลประกอบการของเอ็กโก กรุ๊ป ในปี 2023 คาดว่าจะได้รับปัจจัยบวกจากการรู้รายได้แบบเต็มปีของโรงไฟฟ้าน้ำเทิน 1 ใน สปป.ลาว รวมถึงการรับรู้รายได้แบบเต็มปีจากโรงไฟฟ้าไรเซ็ก ในสหรัฐอเมริกา และโครงการโรงไฟฟ้าหยุนหลิน ในไต้หวัน ที่สามารถทยอยจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเมื่อติดตั้งเครื่องผลิตไฟฟ้าจากใบพัดกังหันแล้วเสร็จ โดยปัจจุบัน (ณ วันที่ 25 สิงหาคม 2023) สามารถติดตั้งเสากังหัน (Monopiles) แล้วเสร็จจำนวน 39 ต้น และติดตั้งเครื่องผลิตไฟฟ้าจากใบพัดกังหัน (Wind Turbine Generators) ที่สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว จำนวน 22 ต้น รวมทั้งโครงการขยายระบบขนส่งน้ำมันทางท่อไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(TPN) ที่คาดว่าจะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2023 เป็นต้นไป โดยโครงการนี้ก็จะได้ผลบวกจากการปิดดีลควบรวมกิจการของเอสโซ่และบางจากฯ ที่จะทำให้บางจากฯมาใช้บริการท่อ TPN ได้ด้วยเช่นกัน.-สำนักข่าวไทย