กรุงเทพฯ 30 เม.ย. – เงินบาททดสอบระดับ 34.60 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่หุ้นไทยปรับลดลง หลังนักลงทุนระมัดระวังการซื้อขาย สัปดาห์หน้าจับตาประชุมเฟด- Brexit-โค้งสุดท้ายเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส
ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) รายงานว่าสัปดาห์ที่ผ่านมา (24-28 เม.ย.) เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 2 สัปดาห์ ที่ 34.64 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยการอ่อนค่าของเงินบาทเป็นทิศทางที่สอดคล้องกับสัญญาณขายสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ประกอบกับ น่าจะมีแรงขายตามปัจจัยทางเทคนิค หลังจากเงินบาทอ่อนค่าทะลุระดับ 34.40 และ 34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงปลายสัปดาห์ ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่าจะต่ออายุมาตรการปรับลดวงเงินการออกพันธบัตรระยะสั้น อายุ 3 เดือน และ 6 เดือน ออกไปอีกในเดือนพฤษภาคม โดยพบว่าการดำเนินการดังกล่าวช่วยลดเงินทุนระยะสั้นที่ไหลเข้ามาพักในตลาดการเงินไทย สำหรับวันศุกร์ที่ 28 เมษายน เงินบาทอยู่ที่ 34.59 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับ 34.38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในวันศุกร์ที่ 21 เมษายน
สำหรับสัปดาห์หน้า (2-5 พ.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 34.35-34.75 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยจุดสนใจของตลาดน่าจะอยู่ที่ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) วันที่ 2-3 พฤษภาคม การหารือของผู้นำยุโรปเกี่ยวกับประเด็น Brexit และช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบ 2 ของฝรั่งเศส ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญ ได้แก่ ข้อมูลการจ้างงานนอกภาคการเกษตร อัตรการว่างงาน ดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนเมษายน ข้อมูลการค้าระหว่างประเทศ รายจ่ายด้านการก่อสร้าง ยอดสั่งซื้อของโรงงาน รายได้ การใช้จ่าย และดัชนีราคาการใช้จ่ายด้านการบริโภคส่วนบุคคลเดือนมีนาคม นอกจากนี้ นักลงทุนน่าจะยังคงรอติดตามตัวเลขจีดีพีของยูโรโซน และสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างประเทศอย่างใกล้ชิด
ด้านบริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด รายงานว่าตลาดหุ้นไทยสัปดาห์ที่ผ่านมา (24-28 เม.ย.) ดัชนีลดลง หลังนักลงทุนระมัดระวังก่อนการประชุมเฟด โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,566.32 จุด ลดลงร้อยละ 0.24 จากสัปดาห์ก่อน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.92 จากสัปดาห์ก่อนมาที่ 41,211.54 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ MAI ปิดที่ 577.47 จุด ลดลงร้อยละ 0.84 จากสัปดาห์ก่อน
ส่วนสัปดาห์หน้า (2-5 พ.ค.) บล.กสิกรไทย มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,545 และ 1,530 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,575 และ 1,590 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามได้แก่ การประชุมนโยบายการเงินของสหรัฐ การประชุมผู้นำยุโรปเกี่ยวกับประเด็น Brexit และการเลือกตั้งฝรั่งเศส ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องชี้ภาคการผลิต และเครื่องชี้ตลาดแรงงาน อาทิ ข้อมูลการจ้างงานนอกภาคการเกษตร ส่วนปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ ดัชนี PMI ของญี่ปุ่นและยูโรโซน.-สำนักข่าวไทย