ลอสแอนเจลิส 3 พ.ย.-รัฐมนตรีพาณิชย์ร่วมงานอเมริกันฟิล์ม หวังเชิญชวนผู้ทำหนังทั่วโลกเข้ามาถ่ายทำหนังที่ไทยให้มากขึ้น พร้อมยังส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ไทยทุกด้านให้ชาวต่างชาติชมแถมนำอาหารไทยหลายเมนูให้ชาวต่างชาติชิม มั่นใจหนังไทยและประเทศไทยจะมีหนังคุณภาพดีและสร้างรายได้เข้าประเทศมากยิ่งขึ้น
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมคณะผู้บริหารระดับสูงจากกระทรวงพาณิชย์กล่าวภายหลังร่วมงาน American Film Market & Conference (AFM) 2022 ที่ลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกาว่า มี 4 ภาระกิจกรรมสำคัญ คือ 1. งานไทยไนต์ (Thai Night) ซึ่งกระทรวงพาณิชย์เป็นเจ้าภาพเชิญผู้สร้างหนังผู้กำกับภาพยนตร์และผู้ที่อยู่ในวงการภาพยนตร์ไทย ให้มีโอกาสพบกับผู้ประกอบการภาพยนตร์ของต่างประเทศ 250 รายจากหลายประเทศทั่วโลก โดยงานนี้ได้รับพระกรุณาธิคุณจากทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เสด็จเป็นองค์ประธานในคืนวันที่ 2 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งมีความสำคัญสูงสุดในการจัดงานครั้งนี้
ส่วนกิจกรรมที่ 2.งาน American Film Market 2022 (AFM 2022)ที่ลอสแอนเจลิส ถือเป็นงานใหญ่ 1 ใน 4 งาน ภาพยนตร์ของโลกงานที่ใหญ่สุด คือ งาน Cannes Film Festival ที่เมืองคานส์ 2. Hong Kong International Film Festival ที่ฮ่องกง 3. Busan International Film Festival ที่เกาหลี และงานนี้ใหญ่เป็นลำดับที่ 4 ของโลก พาผู้ประกอบการภาพยนตร์และผู้ประกอบการธุรกิจให้บริการที่เกี่ยวกับภาพยนตร์ เช่น การตัดต่อดึงผู้ถ่ายทำภาพยนตร์ไปถ่ายทำในประเทศไทย ซึ่งมีกระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาร่วมงานครั้งนี้ด้วย มีบริษัทภาพยนตร์จากประเทศไทยมาร่วม 8 บริษัท มีการซื้อขายภาพยนตร์ให้กับชาวต่างประเทศด้วย คาดว่าจะสามารถทำรายได้จากการขายภาพยนตร์และบริการที่เกี่ยวข้องประมาณ 800 ล้านบาท
และกิจกรรมนำผู้สร้างหนังจากต่างประเทศร่วมทุนกับผู้สร้างหนังในประเทศไทย มีการลงนามกันระหว่างบริษัท Epic Pictures Group ของสหรัฐ กับบริษัทฮอลลีวู้ด (ไทยแลนด์) ของไทย ซึ่งทั้ง 2 บริษัทมีผลงานสร้างภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงหลายเรื่อง ซึ่งจะร่วมทุนกันสร้างหนัง “อินทรีแดง 2024” ลงทุนร่วมกันประมาณ 200 ล้านบาท สร้างเงินให้ประเทศประมาณ 1,000 ล้านบาท โดยจะเกี่ยวข้องกับซอฟต์พาวเวอร์ทั้ง 2 ด้านคือ 1.ดึงผู้สร้างภาพยนตร์จากต่างประเทศมาถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทย จะมีส่วนขายซอฟต์พาวเวอร์ของไทยไปต่างประเทศด้วย เช่น สถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ ศิลปะวัฒนธรรม วิถีชีวิตสอดแทรกลงไปในนั้น ให้ชาวต่างประเทศรู้จักประเทศไทยมากขึ้น 2.ภาพยนตร์ที่สร้างในไทยรัฐบาลพร้อมสนับสนุน โดยเฉพาะการดึงผู้สร้างหนังจากต่างประเทศมาถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม ถือเป็นการสอดแทรกซอฟต์พาวเวอร์ศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิตของไทย จะเป็นเรื่องที่ดีรัฐบาลส่งเสริมเรื่องนี้และที่สำคัญถ้าต่างประเทศมาถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทยที่สนับสนุนให้เกิดแรงจูงใจสำหรับผู้ที่มาถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศ โดยนำเงินเข้ามาใช้จ่ายในเมืองไทยถ้าจ่ายให้คนไทยไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล สามารถนำรายจ่ายมาแจ้งให้รัฐบาลคืนกลับเป็นเงินให้บริษัทนั้นสูงสุดถึง 20% ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ซึ่งมีคนมาถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทยมาแล้วกว่า 700 เรื่องและปีที่แล้ว 122 เรื่องที่มาถ่ายทำในประเทศไทย
นอกจากนี้ ยังได้เดินชมงาน American Film Market & Conference (AFM) 2022 และเยี่ยมชมบูธ ของผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่มาเข้าร่วมงาน และหากดูข้อมูลจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ จำนวน 8 บริษัท เข้าร่วมงานประกอบด้วย Benetone Films , Film Frame Productions , GDH 559 , Hollywood (Thailand) , Kantana Sound Studio , M Pictures , Right Beyond และ Sahamongkolfilm International โดยนำคอนเทนต์ที่โดดเด่นกว่า 50 ผลงานเข้าร่วมนำเสนอ อาทิ ภาพยนตร์เรื่อง Haunted Dormitory , Home For Rent , 5th Round , Faces of Anne , Immortal Species และ Khun Pan 3
ภายในงานยังได้มีการประชาสัมพันธ์ซอฟต์พาวเวอร์ด้านอาหาร ไทยมาเลี้ยงรับรองแขกต่างชาติที่มาร่วมงาน อาทิ ลาบทอด ไก่สะเต๊ะ หมูพะโล้ แกงเขียวหวานไก่ กุ้งผัดผงกะหรี่ ผัดกะเพราเห็ด ข้าวยำเนื้อย่าง ถุงทอง หอยนางรมสด สลัดกุ้งและเงาะ และข้าวเหนียวสังขยา โดยผู้เข้าร่วมงานต่างชื่นชอบอาหารไทยเป็นอย่างมาก.-สำนักข่าวไทย