กรุงเทพฯ 27 ต.ค. – รพ.ราชวิถี จับมือ รพ.บุรีรัมย์ สร้างเครือข่ายความร่วมมือทางการแพทย์ ด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด เพื่อผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดภาคอีสานตอนล่าง แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน
กรมการแพทย์ โดยโรงพยาบาลราชวิถี ตระหนักถึงความสำคัญของโรคทางระบบหัวใจและหลอดเลือดที่มีความรุนแรงและซับซ้อนมากขึ้น จึงร่วมมือกับโรงพยาบาลบุรีรัมย์จัดตั้งศูนย์ผ่าตัดผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด รักษาผู้ป่วยที่มีอาการซับซ้อน ต้องการการรักษาขั้นสูง ลดการรอคอยในการเข้ารับการผ่าตัด เพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดช่วยชีวิตเร่งด่วน ตลอดจนพัฒนาการทำงานร่วมกันของทีมแพทย์และสหสาขาวิชาชีพที่มีเป้าหมายเดียวกัน คือความปลอดภัยสูงสุดของผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยและครอบครัวกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีคุณภาพมากที่สุด
นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคหัวใจและหลอดเลือดจัดเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศ และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งมีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลสูง ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว ประกอบกับประเทศไทยได้เข้าสู่ยุค Thailand 4.0 ซึ่งเป็นยุคของการนำโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ “Value-Based Economy” หรือ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” สาระสำคัญประการหนึ่ง คือ เน้นการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการพัฒนานวัตกรรมด้านการบริการ และด้านสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ถือเป็นกลุ่มเป้าหมายหนึ่งที่จะต้องพัฒนาให้สอดคล้องกับนโยบาย Thailand 4.0 ดังนั้น การพัฒนาการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดในส่วนภูมิภาคให้ทัดเทียมในส่วนกลางจึงมีความจำเป็นที่จะต้องสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ ด้านบริการทางการแพทย์และนวัตกรรมด้านการรักษาอย่างต่อเนื่อง
นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า ศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทาง ด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลราชวิถี ถือเป็นศูนย์การแพทย์ที่ครบวงจรแห่งหนึ่งของกระทรวงสาธารณสุข มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่รักษาผู้ป่วยโรคหัวใจในทุกช่วงวัยของประเทศ มากว่า 50 ปี การลงพื้นที่เป็นทีมพี่เลี้ยงในการช่วยเปิดศูนย์ผ่าตัดผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดที่โรงพยาบาลบุรีรัมย์ ได้นำนโยบายแนวคิดความเชี่ยวชาญขั้นสูงสู่ภูมิภาค เพื่อสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับประชาชน ทำให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลได้รับบริการอย่างเท่าเทียม ได้รับความสะดวกสบายอย่างไร้รอยต่อ และลดภาระการเดินทางของผู้ป่วย อีกทั้ง เพื่อให้โรงพยาบาลบุรีรัมย์สามารถผ่าตัดผู้ป่วยโรคหัวใจที่มีความซับซ้อนได้เอง แก้ไขปัญหาความเสี่ยงจากความสูญเสียในผู้ป่วยที่รอคิวผ่าตัดในภาคอีสานตอนล่างที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น สอดคล้องตามนโยบายของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ในการสร้างความเสมอภาคให้ประชาชนในภูมิภาคเข้าถึงระบบบริการสุขภาพทางการแพทย์ชั้นสูงอย่างเท่าเทียม เป็นธรรม สะดวก รวดเร็ว ลดระยะเวลารอคอย และลดความสูญเสีย
นพ.วิทวัส พิบูลย์ ประธานศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทางด้าน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวเพิ่มเติมว่า โรงพยาบาลบุรีรัมย์ได้เตรียมความพร้อมล่วงหน้าโดยการส่งทีมแพทย์และทีมสหสาขาวิชาชีพเข้ามาศึกษาหลักสูตรเฉพาะทางที่โรงพยาบาลราชวิถี ก่อนจะมีการเปิดศูนย์ผ่าตัดหัวใจ เมื่อเดือนมิถุนายน 2565 ซึ่งการลงพื้นที่ของโรงพยาบาลราชวิถีในการช่วยเปิดศูนย์ผ่าตัดผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดที่โรงพยาบาลบุรีรัมย์ นับเป็นความร่วมมือที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการผ่าตัดหัวใจในผู้ป่วยที่มีความยุ่งยากซับซ้อนแก่บุคลากรทางการแพทย์ ให้มีความเชี่ยวชาญและสามารถผ่าตัดผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดได้เองอย่างมีประสิทธิภาพ และมีคุณภาพมากที่สุด. -สำนักข่าวไทย