กรุงเทพฯ 8 ต.ค.- กรมชลประทานปรับเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เนื่องจากน้ำยังเกินความจุที่ระดับเก็บกักสูงสุด รวมทั้งคาดการณ์ว่า จะมีน้ำจากฝนที่ตกก่อนหน้านี้เข้ามาเติมอย่างต่อเนื่อง แจ้งเตือน 3 จังหวัดด้านท้ายเขื่อนให้เฝ้าระวังและเตรียมรับสถานการณ์จากระดับน้ำที่จะสูงขึ้นอีก 30-50 เซนติเมตร
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า กรมชลประทานส่งหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี สระบุรี และพระนครศรีอยุธยาเพื่อให้แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ริมแม่น้ำป่าสักและแม่น้ำเจ้าพระยาเฝ้าระวังระดับน้ำที่จะสูงขึ้น จากการปรับเพิ่มการระบายน้ำของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์
ทั้งนี้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่องในลุ่มน้ำป่าสัก บริเวณพื้นที่รับน้ำเหนือเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนจำนวนมาก วันนี้ (8 ตุลาคม) มีปริมาตรน้ำทั้งหมด 1,091 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อเทียบกับความจุที่ระดับเก็บกักสูงสุด 960 ล้านลูกบาศก์เมตร มีน้ำเกินความจุร้อยละ 113
กรมชลประทานคาดการณ์ปริมาณน้ำที่จะเกิดจากปริมาณฝนตามคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) ว่า จะมีปริมาณน้ำท่าไหลเข้าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ระหว่างวันที่ 8 ถึง 14 ตุลาคม รวม 492 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่จากอัตราการระบาย 900 ลบ.ม./วินาที จะส่งผลให้วันที่ 14 ตุลาคม ปริมาตรน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์จะมี 1,031 ล้านลูกบาศก์เมตร แม้ยังคงเกินความจุที่ระดับเก็บกักสูงสุด แต่ลดลงกว่าปริมาตรในปัจจุบัน
ดังนั้น เพื่อเป็นการควบคุมระดับน้ำและปริมาณน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมสอดคล้องกับมติที่ประชุมคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคกลาง กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) วานนี้ (7 ต.ค.) กรมชลประทานจึงปรับเพิ่มการระบายน้ำจากอัตรา 830 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีเป็น 900 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีตั้งแต่วันนี้ โดยทยอยเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ
น้ำที่ระบายจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์จะไหลไปรวมกับน้ำจากคลองชัยนาท-ป่าสัก แล้วจะควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านสถานี S.26 ท้ายเขื่อนพระรามหก อำเภอทำเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาในอัตราประมาณ 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
ทั้งนี้จะส่งให้พื้นที่ริมแม่น้ำป่าสัก ตั้งแต่ท้ายเขื่อนป่าลักชลสิทธิ์ อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี ถึงเขื่อนพระรามหก อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 30-50 เซนติเมตร โดยปริมาณน้ำที่ระบายเพิ่มขึ้นจะส่งผ่านประตูระบายน้ำพระนารายณ์ อำเภอท่าเรือระหว่างอัตรา 80-120 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ลำเลียงน้ำลงสู่พื้นที่ตอนล่างตามแนวคลองเหนือใต้ แล้วเร่งระบายออกสู่ทะเลโดยเร็ว.-สำนักข่าวไทย