กรุงเทพฯ 22 ก.ย.- ซีอีโอ “วงษ์สยามก่อสร้าง” โต้ “ยุทธพงศ์” ยันประมูลท่อส่งน้ำอีอีซีโปร่งใส ย้ำชัดยื้อเวลาลงนาม รัฐเสียหายหนัก 560 ล้านบาทต่อปี ซัดเล่นเกมการเมือง เผยอีสท์วอเตอร์จ่ายส่วนแบ่งรัฐร้อยละ 1 ขณะที่ “วงษ์สยามก่อสร้าง” จ่ายให้ร้อยละ 27
นายอนุฤทธิ์ เกิดสินธ์ชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ผู้รับสัมปทานบริหารระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก (อีอีซี) กล่าวว่า หลังจากกรมธนารักษ์เตรียมเดินหน้าเซ็นสัญญาการดำเนินโครงการท่อส่งน้ำหลักในภาคตะวันออก (อีอีซี) กับบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ในฐานะผู้ชนะการประมูล หลังจากศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งไม่คุ้มครองชั่วคราว เมื่อได้รับคำร้องจากอีสท์วอเตอร์ขอให้คุ้มครองชั่วคราว ทำให้กรมธนารักษ์ชะลอลงนามในช่วงที่ผ่านมา
กรณีนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ระบุมีคนสั่งการเร่งรัดลงนามสัญญาโครงการท่อส่งน้ำอีอีซี และทำหนังสือถึงรักษาการนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และปลัดกระทรวงการคลัง อ้างรัฐจะเสียหายนั้น ยืนยันว่าการประมูลโครงการนี้เป็นไปตามขั้นตอนและระเบียบราชการอย่างโปร่งใส ชัดเจน และรัฐได้ประโยชน์สูงสุด เมื่อศาลปกครองกลางมีคำสั่งเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2565 ให้ระงับการลงนามสัญญาโครงการไว้ชั่วคราว ก่อนพิพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีดังกล่าว ดังนั้น จึงเลื่อนการลงนามสัญญาโครงการออกไปก่อน
เมื่อ “วงษ์สยามก่อสร้าง” ได้อุทธรณ์ไปยังศาลปกครองสูงสุด เพื่อขอให้มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของศาลปกครองกลาง บัดนี้ปรากฏข้อเท็จจริงแล้วว่าศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองกลาง โดยยกคำขอของผู้ฟ้องคดี ดังนั้น จึงมีเหตุอันชอบธรรมตามกฎหมาย ทำให้กรมธนารักษ์เตรียมจัดให้ลงนามในสัญญาโครงการท่อส่งน้ำอีอีซี เพื่อเดินหน้าโครงการ เพราะหากไม่เป็นไปตามระยะเวลากำหนดอาจทำให้รัฐเสียหาย เนื่องจากไม่ได้รับผลประโยชน์ตอบแทน คิดค่าเสียหายจากการไม่ได้รับผลตอบแทนรายปี ปีที่ 1 จำนวน 122 ล้านบาท และกรมธนารักษ์ไม่ได้รับส่วนแบ่งรายได้ในปีแรกคิดเป็นค่าเสียหาย 1,228 ล้านบาท หรือเฉลี่ยคิดเป็นค่าเสียหาย 565 ล้านบาทต่อปี
นายอนุฤทธิ์ กล่าวว่า หากกรมธนารักษ์ยังให้บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสท์วอเตอร์ ครอบครองใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินของแผ่นดินต่อไป โดยจ่ายค่าตอบแทนแบบเดิม อาจจะมีข้อครหาจากประเด็นดังกล่าวได้ว่าเป็นการให้ใช้ทรัพย์สินของแผ่นดินโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายแก่หน่วยงานรัฐ และเอื้อประโยชน์ต่ออีสท์วอเตอร์ซึ่งเป็นผู้แพ้ประมูล ในเมื่อสัญญาใหม่ อีสท์วอเตอร์จ่ายส่วนแบ่งให้รัฐเพียงร้อยละ 1 ต่อปี ขณะที่วงษ์สยามฯ จ่ายให้รัฐร้อยละ 27 ต่อปี
“เมื่อบริษัทฯ เป็นผู้ได้รับสิทธิบริหารโครงการนี้ โดยทางกรมธนารักษ์มีหนังสือแจ้งกำหนดวันลงนาม และให้บริษัทเพื่อชำระตามสัญญา 2 ครั้ง ที่ผ่านมาบริษัทได้ดำเนินการครบถ้วนทุกประการ หากนับระยะเวลาตั้งแต่ วันที่คณะกรรมการที่ราชพัสดุมีมติเห็นชอบเมื่อเดือนมีนาคม 2565 จนถึงปัจจุบัน หากไม่เป็นไปตามกรอบเวลาที่กรมธนารักษ์กำหนด อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทฯ จนไม่อาจเยียวยาได้ จึงขอย้ำว่าไม่มีใครสั่งการเร่งรัดลงนามสัญญา แต่เป็นไปตามขั้นตอนที่ถูกต้องชอบธรรม และศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลชั้นต้นแล้ว” นายอนุฤทธิ์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย