อินเดีย 19 เม.ย.-อาชีพเก่าแก่อย่างหนึ่งของอินเดียที่สืบทอดต่อกันมานับร้อยปีแต่กำลังจะสูญหายไป เป็นอาชีพอะไร ติดตามในสารคดีโลก
หมู่บ้านโยกิเดราแห่งนี้ตั้งอยู่ชานเมืองคานปูร์ รัฐอุตตรประเทศ ทางภาคเหนือของอินเดีย เป็นถิ่นฐานของชนเผ่าซาเพราส ที่ยึดอาชีพหมองูสืบทอดต่อกันมาหลายชั่วอายุ พวกเขาเติบโตมาด้วยการจับงูพิษในป่านำมาถอดเขี้ยวแล้วฝึกให้ร่ายรำตามเสียงเป่าปี่ ก่อนจะนำไปเปิดแสดงโชว์ แต่ทุกวันนี้มีกฎหมายคุ้มครองสัตว์มากมายที่ออกมาคุ้มครองสัตว์ป่า ขณะที่โอกาสเปิดแสดงก็น้อยลง ทำให้ชาวบ้านเหล่านี้แทบไม่มีหนทางหารายได้
งูเป็นสัตว์ที่เป็นที่เคารพบูชาของชาวอินเดียที่นับถือศาสนาฮินดู เชื่อกันว่าหมองูคือสาวกของพระศิวะ ซึ่งมีงูจงอางคล้องคอ เด็กๆ ในหมู่บ้านแห่งนี้คลุกคลีอยู่กับงูมาตั้งแต่เล็กๆ เหมือนเป็นสัตว์เลี้ยงในครอบครัว
บูติ นาธ หมองูวัย 65 ปี บอกว่า พวกเขายึดอาชีพหมองูสืบทอดต่อกันมามากกว่า 7 ชั่วอายุคนแล้ว นับเป็นโชคร้ายของพวกเขาที่ไม่มีงานอื่นพอจะยึดเป็นอาชีพหาเลี้ยงตัวได้ จึงได้แต่จับงูมาฝึกและเปิดแสดง
ในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา หมองูมักจะไปเปิดแสดงตามตลาดและเทศกาลต่างๆ หมู่บ้านแห่งนี้ยังเป็นแหล่งของยารักษาคนถูกงูกัดด้วย แต่ทางการได้เข้ามาปราบปรามหมองูตามกฎหมายคุ้มครองสัตว์ป่าของอินเดียในปี 2515 และอินเดียได้สั่งห้ามประกอบอาชีพหมองูมาตั้งแต่ปี 2534 ซึ่งบรรดานักเคลื่อนไหวพิทักษ์สัตว์มองว่าเป็นการคุกคามสัตว์ และเป็นอาชีพที่ไม่ปลอดภัย
ปัจจุบันหมู่บ้านโยกิเดรามีหมองูอยู่ราว 1,000 คน หาเงินได้เฉลี่ยวันละ 200 รูปี หรือราว 100 บาทเศษ ไม่พอจะจุนเจือครอบครัว ต้องประทังชีวิตด้วยข้าวปลาอาหารที่ผู้คนที่เมตตานำมาบริจาค และเมื่อโอกาสเปิดแสดงมีน้อยลงและจับงูได้ยากขึ้น เพราะมีเจ้าหน้าที่ป่าไม้คอยตรวจตรา ทำให้หนุ่มสาวรุ่นหลังต้องหันไปยึดอาชีพอื่นๆ แทน แม้ขณะนี้จะมีข้อเสนอให้ช่วยเหลือหมองูเหล่านี้ด้วยการให้พวกเขาใช้ทักษะของตัวเองดูแลรักษางูที่เจ็บป่วย พร้อมทั้งผลิตยารักษาคนที่ถูกงูและสัตว์มีพิษอื่นๆ กัด แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีอะไรที่เป็นรูปธรรมออกมา.-สำนักข่าวไทย