รัฐสภา 8 พ.ย.- สปท.เห็นชอบแนวทางปฏิรูปปรับค่าตอบข้าราชการภาครัฐ เสนอนายกรัฐมนตรี เพื่อแก้ไขปัญหาการจ่ายเงินเดือนไม่เป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำและปรับให้เหมาะสมกับค่าครองชีพในปัจจุบัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูประเทศ (สปท.) มีมติเห็นชอบรายงานการปฏิรูปค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์ภาครัฐ ของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ด้วยคะแนนเสียง 139 ต่อ 3 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง ซึ่งคณะกรรมธิการจะปรับแก้ไขรายงานตามที่สมาชิกเสนอ ก่อนนำส่งให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการต่อไป
รายงานฉบับดังกล่าว ได้วางแนวทางการปฏิรูประบบค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์ภาครัฐ อย่างเร่งด่วนให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี ด้วยการปรับองค์ประกอบของคณะกรรมการพิจารณาเงินเดือนแห่งชาติ (กงช.) ที่ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ.2538 ให้มาจากส่วนราชการ 10 คน ผู้ทรงคุณวุฒิ 3 คน และภาคเอกชน 2 คน รวมไม่เกิน 15 คน และเติมอำนาจให้ กำกับดูแลควบคุมการจ่ายเงินเดือน จากเดิมที่มีเพียงการให้คำปรึกษา พร้อมยกเลิกการให้หน่วยงานกำหนดค่าตอบแทนตัวเอง เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ขณะที่การทบทวนปรับค่าตอบแทนต้องยึดหลักความสามารถที่รัฐจะจ่ายได้ ตรงตามมาตรฐานค่าครองชีพและคำนึงถึงความพอเพียง เป็นธรรม ที่สำคัญต้องจูงใจให้คนอยากทำงาน แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 35 ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายภาครัฐ
สมาชิก สปท.ยังไม่มั่นใจว่า รายงานดังกล่าวจะช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการจ่ายค่าตอบแทนให้ข้าราชการภาครัฐได้หรือไม่ อาทิ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สปท. เห็นว่า หากปรับอัตราค่าตอบแทนหน่วยงานภาครัฐให้อยู่ในเกณฑ์เดียวกัน อาจทำให้หน่วยงานภาครัฐประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพราะภาคเอกชนให้ค่าตอบแทนที่สูงกว่า และหากลดสัดส่วนของคณะกรรมการพิจารณาเงินเดือนลงอาจทำให้การพิจารณาเงินเดือนไม่รอบด้าน และอาจเป็นเรื่องอ่อนไหวต่อบางองค์กรเนื่องจากคณะกรรมการชุดใหม่ไม่ได้กำหนดผู้แทน ทหารและตำรวจ แต่หน่วยงานทั้ง 2 มีการจ่ายค่าเสี่ยงอันตรายให้บุคลากร ซึ่งอาจถูกปรับลดในส่วนนี้ ด้านนายนิกร จำนง สปท. เห็นว่า ผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการเน้นไปที่ค่าตอบแทนของผู้บริหารระดับสูงมากกว่า ทำให้ไม่เห็นความแตกต่างของแต่ละหน่วยงานได้อย่างชัดเจน เป็นต้น.-สำนักข่าวไทย