สธ. 9 ก.ย.- ปลัด สธ.กำชับสถานพยาบาลทุกพื้นที่เฝ้าระวัง-ป้องกันน้ำท่วม ส่วน รพ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง ที่ฝ้าเพดานห้องฉุกเฉินถล่ม เกิดจากรอยต่อโครงสร้างอาคารที่มีการต่อเติมและฝนตกหนัก ไม่มีอุปกรณ์การแพทย์เสียหาย ย้ายออกมาให้บริการด้านหน้าห้องฉุกเฉินแล้ว
วันนี้ (9 ก.ย.65) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากสถานการณ์ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนบนเข้าสู่พายุโซนร้อน “หมาอ๊อน” ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง น้ำล้นตลิ่ง ระหว่างวันที่ 13 ส.ค.-9 ก.ย.2565 ในพื้นที่ 27 จังหวัด มีสถานบริการสาธารณสุขที่ได้รับผลกระทบ 16 แห่ง ประกอบด้วย สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ 1 แห่ง โรงพยาบาล 2 แห่ง และ รพ.สต. 13 แห่ง โดยหน่วยบริการเปิดให้บริการได้ตามปกติ 11 แห่ง เปิดให้บริการบางส่วน 1 แห่ง และต้องปิดให้บริการ 3 แห่ง ซึ่งได้ย้ายจุดบริการไปยังพื้นที่ปลอดภัยเรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ จัดทีมแพทย์ออกปฏิบัติการเชิงรุก ประกอบด้วย หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ 41 ทีม MERT 2 ทีม miniMERT 24 ทีม CDCU 2 ทีม MCATT 3 ทีม และอื่นๆ 3 ทีม มีผู้เข้ารับบริการรวม 3,849 ราย โดยกองสาธารณสุขฉุกเฉิน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ส่งยาช่วยเหลือผู้ประสบภัยลงไปสนับสนุนในพื้นที่ 19 จังหวัด จำนวน 19,100 ชุด
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวต่อว่า สำหรับเหตุการณ์น้ำท่วมบ้านพักพยาบาล โรงพยาบาลแกลง จ.ระยอง ได้รับรายงานจากผู้อำนวยการโรงพยาบาลว่า อาคารที่ถูกน้ำท่วมเป็นบ้านพักเก่า 2 ชั้น อยู่ในที่ลุ่ม มีเจ้าหน้าที่ได้รับผลกระทบ 37 คน ขณะนี้ได้จัดที่พักให้ใหม่แล้ว ส่วนอาคารโรงพยาบาลและบริเวณอื่นๆ ไม่ได้รับผลกระทบ สามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติ และเหตุการณ์ฝ้าเพดานห้องฉุกเฉินพังลงมา ที่โรงพยาบาลโพธิ์ทอง จ.อ่างทอง เบื้องต้นได้รับรายงานว่า เกิดจากรอยต่อโครงสร้างอาคารที่มีการต่อเติมประกอบกับฝนตกหนักทำให้มีน้ำซึม ไม่มีอุปกรณ์ทางการแพทย์ได้รับความเสียหาย ได้เคลื่อนย้ายอุปกรณ์และเจ้าหน้าที่ออกมาให้บริการบริเวณหน้าห้องฉุกเฉิน สามารถให้บริการได้ตามปกติ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอ่างทองประสานสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดให้เข้ามาทำการตรวจสอบแล้ว
“ขอให้พื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ เตรียมพร้อมป้องกันน้ำท่วม สำรวจอาคารสถานที่ โดยเฉพาะระบบน้ำประปา ระบบบำบัดน้ำเสีย และระบบสำรองไฟฟ้า เพื่อไม่ให้กระทบการให้บริการประชาชน และทำการยกหรือเคลื่อนย้ายครุภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ไปอยู่ในที่ปลอดภัย สำรองยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ให้เพียงพอสำหรับให้บริการ พร้อมทั้งเฝ้าระวังผลกระทบด้านโรคและภัยสุขภาพที่อาจจะเกิดขึ้น และออกหน่วยบริการทางการแพทย์เชิงรุกเพื่อให้ประชาชนได้รับการอย่างเหมาะสม” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว.-สำนักข่าวไทย