เมืองทองฯ 8 ก.ย.-สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT จัดพิธีมอบใบรับรองการขึ้นทะเบียนห้องปฏิบัติการ GIT STANDARD สร้างความเชื่อมั่นสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย เน้นย้ำการเป็นศูนย์กลางการค้าและการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับโลก ณ คูหา Gems Treasure บริเวณด้านหน้าทางเข้าชาเลนเจอร์ฮอลล์ 2 อิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี
นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เผยว่า อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ถือว่าเป็นเส้นเลือดเส้นใหญ่อีกเส้นหนึ่งของระบบเศรษฐกิจไทย การสร้างความเชื่อมั่นในอุตสาหกรรมให้กับผู้ซื้อสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ถือเป็นรากฐานที่สำคัญที่สุดในการสร้าง และขยายธุรกิจนี้ให้เติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน เพื่อนำเม็ดเงินเข้ามาหล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจให้ลงไปถึงฐานราก เพราะธุรกิจนี้เกี่ยวเนื่องกับคนในอุตสาหกรรมทางตรงกว่า 800,000 คน ห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณี โลหะมีค่าเริ่มมีมาในประเทศไทย โดยการนำของ GIT มานานกว่า 20 ปี แต่เนื่องจากคนในอุตสาหกรรมนี้ยังไม่มีรูปแบบของมาตรฐานที่เป็นแบบอย่างเดียวกัน ดังนั้นจึงได้พยายามผลักดันให้เกิดมาตรฐานในแบบฉบับเดียวกัน ผ่านสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ โดยส่งเสริมให้บรรดาห้องปฏิบัติการตรวจสอบวิเคราะห์ทั้งในมหาวิทยาลัย ห้องปฏิบัติการเอกชน รวมถึงบุคลากรของห้องปฏิบัติการ ได้มีรูปแบบการทำงานอย่างเป็นมาตรฐาน แม้ว่าจะไม่ได้มีกฎหมายบังคับ และเป็นไปอย่างเต็มใจปฏิบัติ เพื่อสร้างความก้าวหน้าและยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมและประเทศ ยังผลให้ภาคการตรวจสอบได้รับการยอมรับว่ามีมาตรฐานที่หน่วยงานอย่าง GIT เป็นผู้รับรองอย่างเป็นทางการ อันส่งผลให้ผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าอัญมณี โลหะมีค่า และเครื่องประดับ ซื้อหาสินค้าที่มีใบรับรองจากห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐานได้อย่างมั่นใจ ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของไทยในสายตาโลกเป็นอย่างดี
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ จึงได้มอบหมายให้ GIT ในฐานะหน่วยงานกลางของประเทศที่มีภารกิจในการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับในทุกมิติ รวมถึงด้านการสร้างมาตรฐานการตรวจสอบ ให้จัดทำระบบมาตรฐานห้องปฏิบัติการด้านอัญมณีและเครื่องประดับ GIT STANDARD ขึ้น เพื่อใช้ช่วยเสริมสร้างความน่าเชื่อถือให้กับห้องปฏิบัติการและสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค
นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT กล่าวว่ามาตรฐานห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณี เครื่องประดับ และโลหะมีค่า หรือที่เรียกว่า GIT Standard ครอบคลุมทั้งด้านมาตรฐานห้องปฏิบัติการ และด้านระบบการปฏิบัติงาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อในการสร้างมาตรฐานสำหรับห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณีและเครื่องประดับของประเทศ รวมถึงเปิดโอกาสให้ห้องปฏิบัติการขนาดเล็กสามารถพัฒนาและยกระดับคุณภาพมาตรฐานการตรวจวิเคราะห์/ทดสอบสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไปใช้เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ
ทั้งนี้ จะครอบคลุม 4 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านมาตรฐานวิธีวิเคราะห์และทดสอบอัญมณีและเครื่องประดับ ด้านมาตรฐานวิธีวิเคราะห์และทดสอบโลหะมีค่า ด้านมาตรฐานหลักเกณฑ์ GIT และด้านมาตรฐานบุคลากรของห้องปฏิบัติการ ซึ่ง
การจัดทำมาตรฐานนั้น สถาบันได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการจัดทำมาตรฐาน อาทิ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ สมาคมค้าทองคำ สมาคมช่างทองไทย สมาคมผู้ส่งออกเครื่องประดับเงินไทย สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กรมการท่องเที่ยว ผู้แทนจากภาคเอกชน และผู้เชี่ยวชาญด้านอัญมณีและเครื่องประดับ พร้อมได้จัดทำประชาพิจารณ์เปิดรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณชนผ่านช่องทางเว็บไซต์และเฟซบุ๊คของสถาบัน และมีผู้เข้าร่วมฟังการแสดงข้อคิดเห็นผ่านทุกช่องทางเป็นจำนวนมาก ซึ่งคณะกรรมการวิชาการได้นำข้อคิดเห็นดังกล่าวเข้าประชุมเพื่อพิจารณาอีกครั้ง จนได้ GIT Standard ที่พร้อมประกาศใช้อย่างเป็นทางการ
ปัจจุบันสถาบันได้ดำเนินการจัดทำและประกาศใช้มาตรฐานห้องปฏิบัติการตรวจสอบ อัญมณี เครื่องประดับ และโลหะมีค่า และมาตรฐานด้านหลักเกณฑ์ จำนวน 22 ขอบข่าย และมีห้องปฏิบัติการที่ผ่านเกณฑ์ขึ้นทะเบียนห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณีและเครื่องประดับภายใต้ มาตรฐาน GIT Standard ทั้งภาครัฐ และ เอกชน จำนวน 5 แห่ง ได้แก่
- ห้องปฏิบัติการอัญมณี คณะอัญมณี มหาวิทยาลัยบูรพา
- ห้องปฏิบัติการ บริษัท เอ็มทีเอส รีไฟเนอรี่ แอนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด
- ห้องปฏิบัติการ บริษัท พรีเชียส พลัส จำกัด
- ห้องปฏิบัติการ บริษัท รีฟายนิ่งโลหะมีค่า จำกัด
- ห้องปฏิบัติการ บริษัท จีซีไอ แล็บ จำกัดเป็นต้น
อย่างก็ตาม สถาบันได้จัดพิธีมอบใบรับรองการขึ้นทะเบียนห้องปฏิบัติการ GIT STANDARD ให้กับห้องปฏิบัติการข้างต้นภายในงานบางกอกเจมส์ แอนด์จิวเวลรี่ แฟร์ ครั้งที่ 67 เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงศักภาพของห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณีและเครื่องประดับไทย และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคทั้งชาวไทย และ ชาวต่างชาติที่เข้าร่วมงาน โดยสถาบันหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การดำเนินการในครั้งนี้จะมีส่วนช่วยในการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย ให้สมกับการเป็นศูนย์กลางการค้าและการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับแห่งหนึ่งของโลก.-สำนักข่าวไทย