นนทบุรี 11 เม.ย. – อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญามั่นใจสิทธิบัตรไม่ทำให้ราคายาสูงขึ้น หลังสงกรานต์เสนอนายกรัฐมนตรีเคาะใช้ ม.44 เพื่อให้การจดสิทธิบัตรค้างให้เร็วขึ้น
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาเตรียมข้อมูลและความพร้อมแนวทางการแก้ไขปัญหาด้านการตรวจคำขอสิทธิบัตรที่ค้างในระบบไว้พร้อมแล้วและได้รับนโยบายจากนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เร่งดำเนินการไว้แล้วเช่นกัน คาดว่าหลังเทศกาลสงกรานต์นี้กระทรวงพาณิชย์จะเสนอแนวทางให้นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกประกาศคำสั่ง คสช.ตามมาตรา 44 เพื่อแก้ปัญหาการอนุมัติจดทะเบียนสิทธิบัตรของผู้ประกอบการยื่นขอมายังกรมทรัพย์สินทางปัญญา แต่ยังล่าช้าอยู่พอสมควร
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีคำขอสิทธิบัตรค้างมากถึง 36,000 คำขอทั้งสิทธิบัตรของคนไทยและต่างชาติ แต่เจ้าหน้าที่ของกรมทรัพย์สินทางปัญญาที่ดูแลเรื่องนี้มีเพียง 24 คนเท่านั้น ดังนั้น จำเป็นต้องใช้มาตรา 44 และอยู่ระหว่างการพิจารณาในรายละเอียดและความจำเป็นของ คสช.ที่จะประกาศใช้มาตราดังกล่าว ซึ่งทางกรมฯ เห็นว่ามีความจำเป็นเพื่อเข้ามาแก้ปัญหาการออกสิทธิบัตรด้วยการเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ให้กับกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้อีก 120 คนที่จะต้องนำมาฝึกฝนให้มีความเชี่ยวชาญภายในเวลา 2 ปีถือเป็นขั้นตอนอย่างเร็ว แต่หากใช้ขั้นตอนตามปกติกว่าจะได้บุคลากรตามจำนวนดังกล่าวและต้องผ่านการฝึกฝนอาจต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 4-5 ปี ทำให้การพิจารณาสิทธิบัตรด้านต่าง ๆ ล่าช้าตามไปด้วย และเมื่อแนวทางดังกล่าวมีผลบังคับใช้ทางกรมฯ จะให้ทางเจ้าของสิทธิที่ยื่นเรื่องแสดงความจำนงว่าจะใช้หลักเกณฑ์ตามแนวทางดังกล่าวหรือไม่ภายใน 3 เดือน หลังจากนั้นทางกรมฯ จะดำเนินการพิจารณาคำขอที่ค้างอยู่ให้เสร็จโดยเร็ว ซึ่งขณะนี้มีเจ้าของสิทธิบางรายถอนเรื่องสิทธิบัตรของตัวเองไปบ้างแล้ว เนืองจากสิทธิบัตรที่ค้างเดิมมาเป็นระยะเวลาหลายปีอาจไม่ทันสมัย แต่มีบางรายยื่นจดสิทธิบัตรในหลายประเทศเสร็จแล้วเช่นกัน ดังนั้น ทางกรมฯ จะเร่งดำเนินการให้เสร็จโดยเร็วต่อไป
ทั้งนี้ ตามขั้นตอนการใช้มาตรการพิเศษดังกล่าวจะเน้นใช้ เพื่อเร่งการพิจาณาคำขอสิทธิบัตรที่ค้างกว่า 36,000 คำขอ โดยเป็นสิทธิบัตรด้านนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ใหม่ทุกด้าน เช่น ด้านเคมีวิศวกรรม ฟิสิกส์ ไฟฟ้า รวมถึงสิทธิบัตรยาที่ได้ยื่นคำขอเกินกว่า 5 ปีมาแล้ว ดังนั้น ข้อกังวลมีคำขอสิทธิบัตรยาที่ค้างการพิจารณา 3,000 คำขอในการรับจดสิทธิบัตรยาจะพิจารณารับจดเฉพาะยาใหม่ที่เป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน ขณะที่ยาเก่าจะไม่มีการรับจดสิทธิบัตรอยู่แล้ว ดังนั้น กรมทรัพย์สินทางปัญญาพร้อมที่จะให้ความร่วมมือ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ประกอบการส่วนข้อกังวลเรื่องสิทธิบัตรยานั้น ทางคณะกรรมการอาหารและยา (อ.ย.) กระทรวงสาธารณสุข จะเป็นผู้ตรวจสอบอีกครั้งว่าจะให้ขึ้นทะเบียนยาได้หรือไม่ ส่วนราคายากระทรวงพาณิชย์มีมาตรการดูแลราคายาโดยมีกฎหมายควบคุมราคาสินค้ากำกับอยู่แล้ว และหากเป็นยาที่จำเป็นและมีราคาแพงที่มาจากต้นทุนในด้านต่าง ๆ ที่สูงมากทางกรมการค้าภายในจะเชิญผู้ประกอบการมาต่อรอง เพื่อให้ได้ราคาที่เป็นธรรมไม่ให้เกิดเอาระดเอาเปรียบผู้บริโภค ดังนั้น กรณีที่ภาคประชาสังคม (เอ็นจีโอ) กังวลเฉพาะในส่วนของสิทธิบัตรยานั้น ทางกรมฯ ได้มีการหารือเพื่อหาทางออกร่วมกันและไม่กระทบต่อประสิทธิภาพในการพิจารณาสิทธิบัตรยา และยังจะช่วยส่งเสริมให้นักประดิษฐ์สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยนวัตกรรม หรือไทยแลนด์ 4.0
อย่างไรก็ตาม ทางกรมฯ ขอยืนยันว่ามาตรการนี้จะใช้เพียงชั่วคราวเท่านั้น เพราะหากเทียบการทำงานในการตรวจรับคำขอที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ คือ เจ้าหน้าที่ 1 คนต้องตรวจสอบคำขอถึง 325 คำขอ หากเทียบกับประเทศอาเซียนด้วยกัน เช่น มาเลเซีย 110 คนต่อ 77 คำขอ ฟิลิปปินส์ 49 คนต่อ 83 คำขอ เวียดนาม 58 คนต่อ 77 คำขอ ดังนั้น การเพิ่มบุคลากรจะช่วยให้การพิจารณาสิทธิบัตรทำได้เร็วขึ้น และจะใช้วิธีตรวจสอบที่มีการยื่นคำขอไว้แล้วในต่างประเทศว่าเป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ที่มีการตรวจสอบแล้วมาอ้างอิงจะช่วยทำให้การตรวจสอบและการออกสิทธิบัตรทำได้เร็วขึ้นอีกด้วย.-สำนักข่าวไทย