สธ. 18 ส.ค.- นักโภชนาการ ชี้บะหมี่ซองปรับขึ้นราคากระทบผู้มีรายได้น้อย แต่ปรับขึ้นไม่เกินแค่ 2 บาท กินสัปดาห์ละ 3 ซอง เฉลี่ยใช้เงินเพิ่มสัปดาห์ละ 6 บาท ใน 1 เดือน ใช้เงินเพิ่ม 24 บาท ยังถูกกว่าข้าวราดแกง แต่ต้องเพิ่มโปรตีนลงไป ลำพังแค่บะหมี่ซองได้แต่คาร์โบไฮเดรต แนะปรับทัศนคติเพื่อความอยู่รอด
นายสงา ดามาพงษ์ ที่ปรึกษากรมอนามัย กล่าวถึงราคาสินค้าทยอยปรับขึ้นราคา ล่าสุดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบซองจะมีการปรับขึ้นราคา ว่าการปรับราคาของบะหมี่ซอง ไม่ว่าจะขึ้นกี่บาทล้วนแต่กระทบถึงคนมีรายได้น้อย เพราะบะหมี่ซองกึ่งสำเร็จรูปเหล่านี้ล้วนเป็นดัชนีชี้วัดของผู้มีรายได้น้อย การสำรวจส่วนพบว่า การบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเฉลี่ยรับประทานสัปดาห์ละ 3 ซอง หากมีการปรับขึ้นราคาเป็นสมมติตัวเลขกลม ๆ 2 บาท หรืออาจปรับขึ้นน้อยกว่านี้ ก็จะมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตกสัปดาห์ละ 6 บาท และใน 1 เดือนมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 24 บาท เมื่อต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านอาหารปรับเพิ่มสูงขึ้น ก็ทำให้ต้องมีการคิดและพิจารณาเรื่องของการใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนด้านอาหารให้ดี และปรับตัวเพื่อความอยู่รอด
นายสง่า กล่าวว่าหากพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำ สมมุติ 500 บาท/วัน จะต้องมีค่าอาหารเฉลี่ย 30% ก็เท่ากับ 120 บาท แล้วหารด้วย 3 มื้อ ก็จะตกมื้อละ 40 บาท ซึ่งยังพอที่จะเป็นข้าวราดแกงได้ การมุ่งเน้นแต่ประหยัดทานแต่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเพียงอย่างเดียว ก็เท่ากับร่างกายของคนเรารับแต่คาร์โบไฮเดรต เท่ากับข้าวเปล่า เพียงแต่ในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่รับประทานได้ไม่เบื่อเหมือนข้าว เพราะใส่สารปรุงแต่ง ชูรสชาติ หรือใส่กลิ่นเนื้อ ทั้งที่ไม่มีอยู่จริง ดังนั้น หากต้องการรับประทานบะหมี่ซองเหล่านี้ ควรเติมเนื้อสัตว์ หรือโปรตีน อย่างไข่ไก่ หรือผักลงไป เพื่อให้ร่างกายได้สารอาหารครบ 5 หมู่ เพราะการเพิ่มเนื้อสัตว์ก็จะทำให้ต้นทุนอาหารที่ปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ยมื้อละ 15-20 บาท ก็ยังมีราคาถูกกว่าข้าวราดแกง
นายสง่า กล่าวว่ายิ่งเมื่อต้นทุนอาหารปรับเพิ่มขึ้น อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำได้แค่ต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ตั้งสติในการรับประทานอาหาร ยิ่งราคาอาหารเพิ่มขึ้น ก็ไม่ควรทานแบบสุรุ่ยสุร่าย หรือทานแบบสิ้นเปลือง ยิ่งหากในครอบครัว 1 มีสมาชิกในครอบครัว 5 คนขึ้นไป การปรุงอาหารเองก็ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย และยังจัดเป็นปิ่นโตมารับประทานเป็นอาหารกลางวันได้ รวมถึงต้องมีการปรับทัศนคติ จากการหิวน้ำแต่ไม่ดื่มน้ำ กลับเลือกดื่มกาแฟ ซึ่งต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านอาหารก็จะต้องเพิ่ม 30 บาท จากแค่น้ำเปล่าธรรมดาราคาแค่ 7 บาทเท่านั้น ดังนั้น เมื่อวิกฤตด้านอาหารต้องตั้งสติ และแก้ที่ตัวเราก่อน ของแพงก็ต้องอยู่รอด.-สำนักข่าวไทย