เมียวดี 26 เม.ย.- สถานการณ์การสู้รบตลอดเดือนเมษายน ระหว่างกองกำลังฝ่ายต่อต้านกับกองทัพเมียนมาในเมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ทำให้ชื่อของ พันเอกซอ ชิตตู่ (Saw Chit Thu) ขุนศึกทรงอิทธิพลในเมืองนี้ กลายเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกในชั่วข้ามคืน บางคนว่าเขาเป็นเจ้าของพื้นที่เมียวดีตัวจริง บางคนว่าเขาเป็นผู้มากบารมีประสานสิบทิศ บางคนว่าเขาเป็นแม่ทัพมาเฟียแห่งแม่น้ำเมย เขาคือใคร ถึงสะเทือนเมียนมาและไทยได้
ลำดับสถานการณ์การสู้รบในเมียวดี
วันที่ 5 เมษายน 2567 กองทัพปลดปล่อยชาติกะเหรี่ยง หรือเคเอ็นแอลเอ (KNLA) ของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือเคเอ็นยู (KNU) อ้างว่า ได้ร่วมมือกับกองกำลังกำลังพิทักษ์ประชาชน หรือพีดีเอฟ (PDF) ของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ หรือเอ็นยูจี (NUG) ซึ่งเป็นรัฐบาลเงาของเมียนมา เข้ายึดที่ตั้งทางทหารหลายแห่งในเมืองเมียวดี ที่อยู่ตรงข้ามกับอำเภอเม่สอด จังหวัดตากของไทยโดยมีเพียงแม่น้ำเมยเป็นพรมแดนกั้น พร้อมกับเผยแพร่ภาพอาวุธและเครื่องกระสุนจำนวนมากที่ยึดได้จากทหารเมียนมาราว 600 นายที่ยอมจำนนพร้อมกับครอบครัว หลายฝ่ายมองว่า ความเคลื่อนไหวครั้งนี้สร้างความสูญเสียครั้งใหญ่ให้แก่เมียนมา เพราะเมียวดีเป็นเมืองใหญ่ที่สุดและมีความสำคัญมากที่สุดในบรรดาจุดผ่านแดนถาวรระหว่างไทยกับเมียนมา เพราะถึงแม้จะเกิดการสู้รบครั้งใหม่นับตั้งแต่กองทัพรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 การค้าทวิภาคีข้ามพรมแดนช่วงเดือนเมษายน 2566 ถึงเดือนมีนาคม 2567 ยังคงมีมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (มากกว่า 36,730 ล้านบาท)

ต่อมาวันที่ 10 เมษายน กองกำลังฝ่ายต่อต้านยึดกองทัพทหารราบที่ 275 ค่ายผาซอง ถือเป็นการยึดเมืองเมียวดีได้อย่างเบ็ดเสร็จ ทหารเมียนมาที่เหลืออยู่ราว 200 นายถอยร่นไปปักหลักอยู่ที่สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาแห่งที่ 2 ขณะที่ผู้คนในเมืองเมียวดีพากันเดินทางมายังจุดผ่านแดนแม่สอดเพื่อเข้ามาหลบภัยในไทย ทางการไทยต้องเสริมกำลังตามแนวชายแดน และจุดกระแสวิตกเรื่องจะมีผู้ลี้ภัยจำนวนมากทะลักเข้าไทย เพราะตัวเลขคนข้ามจากเมียวดีเข้ามาทางแม่สอดเพิ่มขึ้นจากวันละ 2,000 คน เป็นวันละเกือบ 4,000 คน
วันที่ 24 เมษายน สถานการณ์ในเมืองเมียวดีพลิกผันสร้างความแปลกใจให้แก่ทุกฝ่าย เมื่อเคเอ็นยูถอนกำลังออกจากเมียวดี โดยอ้างว่าเป็นการถอนกำลังชั่วคราว หลังจากทหารกองทัพเมียนมายกกำลังกลับเข้ามา ขณะที่โฆษกรัฐบาลเมียนมายืนยันว่า ทหารสามารถยึดค่ายผาซองกลับมาได้แล้ว และมีข้อตกลงหย่าศึกกับกองกำลังฝ่ายต่าง ๆ กำหนดให้เมียวดีเป็นพื้นที่ปลอดภัยและพื้นที่เศรษฐกิจ ยุติการสู้รบและเปิดทางการขนส่งสินค้า กำหนดให้ทหารรัฐบาลที่หลบหนีไปยังบริเวณสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 กลับไปยังที่ตั้งหน่วยกองพัน 275 ค่ายผาซอง และให้เจ้าหน้าที่พลเรือนที่ประจำสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 กลับเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ
ชื่อของ ซอ ซิตตู่ ปรากฏ
ท่ามกลางกระแสข่าวที่ยังมีความคลุมเครือว่าฝ่ายต่อต้านและฝ่ายรัฐบาลตกลงกันได้อย่างไร ชื่อของพันเอกซอ ชิตตู่ ก็ปรากฏขึ้นในข่าวว่า เขาคือผู้มีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้
ซอ ชิตตู่ เกิดในรัฐกะเหรี่ยง (Kayin เดิมใช้ว่า Karen) เป็นทั้งทหารและเป็นนักธุรกิจ บางครั้งถูกขนานนานว่า ขุนศึก เป็นอดีตผู้บังคับบัญชากองพัน 999 ของกองทัพกะเหรี่ยงพุทธประชาธิปไตยหรือดีเคบีเอ (DKBA) และเข้าร่วมกับกองทัพพม่า ในปี 2537 เชื่อกันว่าเขาเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดของดีเคบีเอ มีธุรกิจขนาดใหญ่ด้านการค้าไม้ และมีข่าวลือว่าค้ายาเสพติด ต่อมาในปี 2553 เขาได้ยอมรับข้อเสนอของรัฐที่จะเปลี่ยนดีเคบีเอเป็นกองกำลังพิทักษ์ชายแดนกะเหรี่ยงหรือกะเหรี่ยง บีจีเอฟ (Karen BGF ) ภายใต้การบังคับบัญชาของทัตมาดอว์ (Tatmadaw) ซึ่งเป็นชื่ออย่างเป็นทางการของกองทัพเมียนมา
เครดิตภาพ: The Irrawaddy
ซอ ชิตตู่ ก่อตั้งบริษัทชิต มิน เลียง (Chit Lin Myaing) รับดำเนินโครงการต่าง ๆ และได้รับสิทธิพิเศษในรัฐกะเหรี่ยง จากนั้นในปี 2560 จับมือกับหย่าไถ้ อินเตอร์เนชันนัล กรุ๊ป สร้างเมืองใหม่หย่าไถ้ (Yatai) ขึ้นในโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษชเวก๊กโก่ (Shwe Kokko) แต่ถูกรัฐบาลสมัยนางออง ซาน ซู จี เปิดการสอบสวนโครงการ และระงับการก่อสร้างในปี 2563 บริษัทนี้เป็นของนายเฉอ เจ้อเจียง นักธุรกิจชาวจีนที่ถูกทางการไทยจับกุมในปี 2565 ตามหมายจับของทางการจีน
เครดิตภาพ: Bernama
นอกจากนี้ซอ ชิตตู่ยังทำข้อตกลงกับตงเหมย กรุ๊ป พัฒนาเขตอุตสาหกรรมไซซีกัง หรือที่เรียกว่าเมืองเคเค ประธานบริษัทนี้คือนายหวัน ค็อกคอย เจ้าของฉายาคอย ฟันหลอ อดีตหัวหน้ากลุ่ม 14เค ที่เป็นกลุ่มอาชญากรระดับโลกจากมาเก๊า เขาประกาศในงานเปิดตัวโครงการในปี 2563 ว่า จะพัฒนาเมืองเคเคให้เป็นเซินเจิ้นแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่กลายเป็นว่าเมืองนี้คือแหล่งอาชญากรรมข้ามชาติ หลอกลวงคนมาทำงานหลอกลวงออนไลน์หรือสแกมเมอร์ โดยมีการกักขังและทำร้ายร่างกายอย่างน่ากลัว
เครดิตภาพ: RFA
ภายหลังจากกองทัพเมียนมารัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลออง ซาน ซู จี ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 โครงการเมืองใหม่หย่าไถ้ที่ถูกระงับไปได้กลับมาเดินหน้าอีกครั้ง ซอ ชิตตู่ได้รับรางวัลยกย่องจากรัฐบาลในเดือนพฤศจิกายน 2565 ในฐานะผู้ทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ แต่ในเดือนธันวาคม 2566 เขาถูกสหราชอาณาจักรประกาศใช้มาตรการคว่ำบาตรโทษฐานพัวพันการบังคับใช้แรงงานผู้ถูกล่อลวงให้ทำงานเป็นสแกมเมอร์
เครดิตภาพ: The Irrawaddy
วันที่ 23 มกราคมปีนี้ ซอ ชิตตู่เผยกับสื่อว่า ได้หารือกับ พล.ท.ซอ วิน รองผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมาว่า บีจีเอฟไม่ต้องการรับเงินและยุทโธปกรณ์จากกองทัพอีกต่อไป เนื่องจากต้องการเป็นอิสระและไม่ต้องการสู้รบกับชาวกะเหรี่ยงด้วยกัน จากนั้นในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ เขาประกาศยุบกะเหรี่ยง บีจีเอฟ และเปลี่ยนเป็นกองกำลังกะเหรี่ยงแห่งชาติหรือเคเอ็นเอ (KNA)
TNA News-Now-Next: Final Thoughts
ณ วันนี้ 26 เมษายน 2567สถานการณ์การสู้รบในเมียวดีเบาบางลง คนในเมืองเมียวดีที่เข้ามาหลบภัยใน อ.แม่สอด ทยอยเดินทางกลับบ้าน ท่ามกลางความรู้สึกหวาดหวั่นว่า การสู้รบพร้อมจะปะทุขึ้นใหม่ได้ทุกเมื่อ ข้อตกลงหย่าศึกที่กองทัพเมียนมาตกลงกับกองกำลังฝ่ายต่าง ๆ ให้เมียวดีเป็นพื้นที่ปลอดภัยจะมีผลบังคับใช้ได้นานแค่ไหน หรือจะมีฝ่ายใดฉีกข้อตกลงก่อน ยังคงเป็นสถานการณ์ที่ไทยต้องจับตาในฐานะที่มีพรมแดนด้านจังหวัดตากติดกับรัฐกะเหรี่ยง ไม่นับรวมพรมแดนด้านจังหวัดเชียงรายที่ติดกับรัฐฉาน ซึ่งเป็นอีกรัฐหนึ่งของเมียนมาที่กำลังมีการสู้รบกับกองกำลังฝ่ายต่อต้านอย่างหนักหน่วงไม่ต่างกัน ส่วนบทบาทของซอ ชิตตู่ นั้นเห็นได้ชัดว่า เวลานี้เขาสามารถประสานประโยชน์ได้ เพื่อรักษาผลประโยชน์มูลค่ามหาศาล เป้าหมายใหญ่ของเขาคือรักษาความสงบต่อไปแบบนี้แน่นอน แต่หากมองในทางกลับกันถือว่าเป็นผลร้ายกับประชาชนชาวไทย เพราะในแง่หนี่งการสู้รบรอบนี้เป็นโอกาสดีเพื่อกวาดล้างและกำจัดธุรกิจมืด กาสิโน และ แหล่งอาชญากรรมที่อยู่ข้างรั้วไทย แม้ว่าเมื่อเสียงปืนจางหายไปดูจะเป็นผลดีต่อบรรยากาศชายแดน แต่แท้จริงแล้วโอกาสในการเก็บกวาดภัยร้ายที่สร้างความทุกข์เข็ญให้คนไทยและอีกหลายชาติก็จางหายไปด้วยเช่นกัน.-814(812).-สำนักข่าวไทย