ลอนดอน 5 ม.ค.- ผลการศึกษาในแคนาดาพบว่า ผู้อาศัยอยู่ใกล้ย่านที่มีการจราจรพลุกพล่านมีความเสี่ยงเป็นโรคสมองเสื่อมมากกว่าผู้อาศัยห่างออกไป
วารสารการแพทย์แลนเซ็ทตีพิมพ์ผลการศึกษาชาวรัฐออนแทรีโอ ทางตอนกลางค่อนไปทางตะวันออกของแคนาดาที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดของประเทศ เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลประชาชนกว่า 6.5 ล้านคน อายุ 20-85 ปี มีคนเป็นโรคสมองเสื่อม 243,611 คนระหว่างปี 2544-2555 จากนั้นได้ใช้รหัสไปรษณีย์จัดทำแผนที่ระยะห่างที่อยู่อาศัยกับถนนสายหลักพบว่า เมื่อเทียบกับผู้อาศัยอยู่ห่างจากถนนสายหลักกว่า 300 เมตรแล้ว ผู้อาศัยอยู่ห่างไม่เกิน 50 เมตร มีโอกาสเป็นโรคสมองเสื่อมเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 หากอยู่ห่างออกไป 50-100 เมตร ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 ห่างออกไป 101-200 เมตร ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 และห่างกว่า 200 เมตร ความเสี่ยงแทบไม่เพิ่มขึ้น และเมื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงของการเป็นโรคพาร์กินสันและโรคปลอกประสาทอักเสบกลับไม่พบว่ามีความเชื่อมโยงกับการอาศัยอยู่ใกล้ย่านการจราจรพลุกพล่าน
คณะนักวิจัยระบุว่า สารก่อมลพิษในอากาศสามารถเข้าไปในกระแสเลือด ก่อให้เกิดการอักเสบ ซึ่งมีส่วนทำให้เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ ผลการศึกษานี้บ่งชี้ว่า สารก่อมลพิษในอากาศสามารถเข้าสู่สมองผ่านกระแสเลือดและอาจทำให้เป็นโรคทางระบบประสาท ขณะที่โรคสมองเสื่อมส่วนใหญ่เกิดจากอาการเจ็บป่วยทางสมอง ที่พบบ่อยที่สุดคืออัลไซเมอร์ เซลล์สมองของผู้ป่วยจะตายลง มีผลต่อความจำ การคิด พฤติกรรม การจำทิศทางและสถานที่ การทำกิจวัตรประจำวัน องค์การอนามัยโลกประเมินว่า ปี 2558 ทั่วโลกมีผู้ป่วยสมองเสื่อมราว 47.5 ล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเพราะคนมีอายุขัยมากขึ้น.-สำนักข่าวไทย