เชียงใหม่ 10 เม.ย. – แพทย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เตือนฝุ่น PM 2.5 ภัยเงียบสุดอันตราย กระทบระบบทางเดินหายใจ ทำให้เด็กไอคิวต่ำ สมาธิสั้น คนสูงวัยเสี่ยงเกิดโรคสมองเสื่อม อัลไซเมอร์
ผศ.นพ.สุรัตน์ ตันประเวช หัวหน้าหน่วยประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ และเลขานุการ และกรรมการบริหารศูนย์โรคสมองภาคเหนือ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดขึ้นในปีนี้ถือว่าเลวร้ายที่สุดในรอบ 10 ปี โดยผลการวิจัยที่ออกมาล่าสุดในปี 2566 ที่เป็นวารสารวิชาการด้านเซลล์ประสาทวิทยา หรือฝุ่น PM 2.5 ทำลายสมอง พบว่านอกจากฝุ่น PM 2.5 จะมีผลเสียต่อหลอดเลือดและปอดแล้ว ยังมีผลต่อสมองอย่างร้ายแรง ขนาดที่เล็กมากกว่าเส้นผม 50 เท่าของฝุ่น PM 2.5 สามารถแทรกเข้าหลอดเลือดผ่าน 2 ช่องทาง คือ 1.ผนังกั้นปอด การแลกเปลี่ยนแก๊ส และกระแสเลือด และ 2.ลำไส้ ไมโครเบียล และสมอง โดยจะทำให้เกิดภาวะ Oxidative stress หรือที่เรียกว่า ความเครียดของเซลล์หลอดเลือด ก่อนที่ฝุ่นจะกระตุ้นให้เซลล์หลอดเลือดทำงานผิดปกติ ไม่ยืดหยุ่น และอักเสบตามมา
จากการสำรวจเชิงประชากรพบว่า PM 2.5 ทำให้อัตราของประชากรเกิดโรคอัมพาตมากขึ้น และหากมีปัญหาทางหลอดเลือดมาก่อนแล้ว เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง หรือแม้กระตุ้นคนสูงอายุที่มักมีเส้นเลือดเสื่อม จะมีปัญหาเส้นเลือดไม่ยืดหยุ่นและอุดตันตามมา
ทั้งนี้ ยังพบว่าคนไข้ช่วงที่มี PM 2.5 เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะคนไข้สูงอายุและมีสมองเสื่อม สิ่งที่พบ ได้แก่ มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง สมองเสื่อมมากขึ้น จำลูกหลานไม่ได้ ผลการวิจัยของแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่แสดงข้อมูลให้เห็นว่า PM 2.5 ผ่านเข้าสมองโดยตรงบริเวณทางเชื่อมที่โพรงจมูกกับสมอง แล้ว PM 2.5 นี้จะเข้าไปกระตุ้นโปรตีนขยะที่อยู่ในสมองที่ชื่อ Beta amyloid ที่เป็นแหล่งกำเนิดโรคสมองเสื่อม อัลไซเมอร์
สิ่งที่น่ากังวลมากไปกว่านั้นคือ สมองของเด็กที่กำลังพัฒนา อนุภาคของ PM 2.5 อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของสมองในวัยกำลังพัฒนาของเด็ก ซึ่งเกิดความสุ่มเสี่ยงต่อปัญหาด้านการเรียนรู้ ความโง่ ความฉลาด และอารมณ์ในวัยรุ่น โดยเฉพาะอาการซึมเศร้าที่นำไปสู่การฆ่าตัวตาย
เช่นเดียวกับคุณแม่ตั้งครรภ์ เมื่อเจอ PM 2.5 งานวิจัยในประเทศจีนได้ติดตามแม่ที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มี PM 2.5 หนาแน่น แล้วมีการติดตามพัฒนาการของเด็กที่เกิดมาถึง 1 ปี ด้วยแบบทดสอบความฉลาด ASQ พบว่าคะแนน ASQ ที่วัดทั้งการสื่อสาร การเคลื่อนไหว การใช้มือแบบละเอียด การตัดสินใจแก้ปัญหา แย่ลง และเด็กยังมีภาวะสมาธิสั้นอีกด้วย โดยเด็กที่อยู่ในพื้นที่ที่มีมลภาวะฝุ่นพิษสูงมีแนวโน้มในการพัฒนาของสมองช้า IQ ต่ำ .-สำนักข่าวไทย