สตอกโฮล์ม 20 ก.พ.- ผลการศึกษาที่เผยแพร่วันนี้ระบุว่า การค้าอาวุธทั่วโลกในช่วง 5 ปีมานี้เพิ่มขึ้นถึงระดับสูงสุดนับตั้งแต่ช่วงสงครามเย็น อันเป็นผลจากความต้องการอาวุธในตะวันออกกลางและเอเชีย
สถาบันการวิจัยสันติภาพระหว่างประเทศสตอกโฮล์มแถลงว่า ช่วงปี 2555-2559 เป็นช่วง 5 ปีที่มีการขนส่งอาวุธมากที่สุดนับตั้งแต่ช่วงสงครามเย็นระหว่างปี 2490-2534 ประเทศในเอเชียและโอเชียเนียนำเข้าอาวุธถึงร้อยละ 43 ของการนำเข้าทั่วโลก เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.7 จากช่วงปี 2550-2554 รองลงมาคือประเทศในตะวันออกกลางและริมอ่าวเปอร์เซียที่นำเข้าอาวุธร้อยละ 29 ของโลก เพิ่มขึ้นร้อยละ 12 สวนทางกับประเทศในยุโรปที่นำเข้าอาวุธร้อยละ 11 ของโลก ลดลงร้อยละ 7 ประเทศในอเมริกานำเข้าร้อยละ 8.6 ของโลก ลดลงร้อยละ 2.4 และประเทศในแอฟริกานำเข้าร้อยละ 8.1 ของโลก ลดลงร้อยละ 1.3
นักวิจัยของสถาบันกล่าวว่า ช่วง 5 ปีมานี้ประเทศในตะวันออกกลางหันไปหาเทคโนโลยีชั้นสูงทางทหารจากสหรัฐและยุโรปมากขึ้น และยังคงสั่งซื้ออาวุธมากขึ้นเมื่อปีที่แล้วแม้ว่าราคาน้ำมันตกต่ำ เพราะเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดการกับความขัดแย้งและความตึงเครียดในภูมิภาค หากแยกเป็นรายประเทศแล้ว ประเทศที่นำเข้าอาวุธมากที่สุดในโลกคืออินเดีย รองลงไปคือซาอุดีอาระเบีย ส่วนประเทศที่ส่งออกอาวุธมากที่สุดในโลกคือสหรัฐครองส่วนแบ่งตลาดโลกร้อยละ 33 รองลงไปคือรัสเซียครองส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 23 จีนครองส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 6.2 ฝรั่งเศสครองส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 6 และเยอรมนีครองส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 5.6 ห้าประเทศนี้ครองส่วนแบ่งตลาดส่งออกอาวุธรวมเกือบ 3 ใน 4 ของโลก.- สำนักข่าวไทย