บรัสเซลส์ 30 มี.ค. – ผู้นำของ 23 ประเทศทั่วโลกและองค์การอนามัยโลกให้การสนับสนุนแนวคิดในการจัดทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่จะช่วยให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกรับมือกับเหตุการณ์ฉุกเฉินทางการแพทย์ในอนาคต อย่างเช่นกรณีการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
ในวันนี้ผู้นำหลายประเทศได้แสดงเจตจำนงอย่างเป็นทางการสนับสนุนให้จัดทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศฉบับนี้ ซึ่งประเทศเหล่านั้นได้แก่ ฟิจิ โปรตุเกส โรมาเนีย, อังกฤษ, รวันดา, เคนยา, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, กรีซ, เกาหลีใต้, ชิลี, คอสตาริกา, แอลเบเนีย, แอฟริกาใต้, ตรินิแดดและโตเบโก, เนเธอร์แลนด์, ตูนิเซีย, เซเนกัล, สเปน, นอร์เวย์, เซอร์เบีย, อินโดนีเซีย, ยูเครนและองค์การอนามัยโลก ผู้นำเหล่านี้ร่วมกันเขียนในบทความที่เผยแพร่ทางหนังสือพิมพ์สำคัญหลายฉบับว่า จะต้องมีโรคระบาดและสถานการณ์ฉุกเฉินด้านการแพทย์เกิดขึ้นอีกในอนาคต ซึ่งจะไม่มีรัฐบาลไหนรัฐบาลเดียวหรือองค์กรระหว่างประเทศแห่งใด จะสามารถรับมือกับภัยคุกคามนี้ได้ตามลำพัง พวกเขาเชื่อว่า ประเทศต่าง ๆ ควรจะร่วมมือกันเพื่อจัดทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศฉบับใหม่เพื่อการเตรียมพร้อมและรับมือกับโรคระบาด เป้าหมายของสนธิสัญญานี้คือการเสริมสร้างความยืดหยุ่นในการรับมือกับโรคระบาดผ่านทางระบบเตือนภัยที่ดีกว่าเดิม การแบ่งปันข้อมูล การค้นคว้าวิจัยและการผลิตและแจกจ่ายวัคซีน ยารักษาโรค การตรวจวินิจฉัยโรคและอุปกรณ์ที่ใช้ป้องกันตนเอง แนวความคิดเรื่องการจัดทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศดังกล่าว ซึ่งจะรับประกันการเข้าถึงวัคซีน ยารักษาโรคและการตรวจวินิจฉัยโรคสำหรับโรคระบาดอย่างกว้างขวางและเท่าเทียม เสนอโดยนายชาร์ลส์ มิเชล ประธานสภาสหภาพยุโรป ในระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ จี-20 เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว.-สำนักข่าวไทย