นิวเดลี 8 ต.ค. – ธนาคารโลกเผยว่า ประชาชนในภูมิภาคเอเชียใต้หลายล้านคนจะตกอยู่ในสภาพยากจนข้นแค้นเนื่องจากเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งรุนแรงที่สุดจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19
ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียใต้จะหดตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึงร้อยละ 7.7 ในปีนี้ แรงงานนอกระบบจะได้รับผลกระทบหนักสุด การบริโภคของภาคเอกชนและประชาชนทั่วไปจะไม่สามารถฟื้นตัวได้ในระยะเวลาอันสั้น รายงานของธนาคารโลกที่จัดทำขึ้นทุก 2 ปีระบุว่า ผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนจะรุนแรงกว่าที่รายงานคาดการณ์ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือจีดีพีระบุไว้ ซึ่งหมายถึงอัตราความยากจนที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่อินเดีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของภูมิภาคเอเชียใต้ มีแนวโน้มเศรษฐกิจหดตัวสูงถึงร้อยละ 9.5 ในปีนี้ รายงานดังกล่าวยังเตือนว่า เศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียใต้อาจย่ำแย่กว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากปัญหาการระบาดรุนแรงของโรคโควิด-19 ที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติรู้สึกวิตกกังวล รวมถึงการจำกัดความสามารถของรัฐบาลในการเพิ่มค่าใช้จ่าย และการเพิ่มแรงกดดันให้ระบบธนาคารที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากปัญหาหนี้เสีย
แม้อินเดียประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์เข้มงวดมาตั้งแต่เกิดการระบาดช่วงแรกในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แต่ก็ยังมีผู้ป่วยติดเชื้อสะสม 6.84 ล้านคน สูงเป็นอันดับที่ 2 ของโลกรองจากสหรัฐ และมีผู้เสียชีวิต 105,000 คน ขณะที่ปากีสถานและบังกลาเทศมีผู้ป่วยติดเชื้อสะสมกว่า 317,000 คน ส่วนประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียใต้มียอดผู้ป่วยติดเชื้อสะสมรวมกันกว่า 149,000 คน. – สำนักข่าวไทย