ฮ่องกง 14 ก.ย.- คาเธ่ย์แปซิฟิค สายการบินแห่งชาติของฮ่องกงเผยว่า ได้จอดเครื่องบินโดยสารสองในห้า และอาจไม่รอดพ้นจากวิกฤตโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 หากไม่ปรับโครงสร้างและปรับตัวสำหรับอนาคตหลังการแพร่ระบาด
นายโรนัลด์ หล่ำ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายลูกค้าและพาณิชย์คาเธ่ย์แปซิฟิคกล่าวว่า เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าสายการบินอายุ 73 ปีแห่งนี้กำลังเผชิญหนทางการฟื้นตัวที่ยาวไกลและไม่แน่นอน โดยเตรียมเปิดเผยแผนการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่อย่างเร็วที่สุดในเดือนหน้า เดือนสิงหาคมที่ผ่านมาฝูงบินของบริษัทมีผู้โดยสารเต็มลำเพียงร้อยละ 19.9 เท่านั้น ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เริ่มรายงานตัวเลขผู้โดยสาร ดังนั้นจึงจะจอดเครื่องบินร้อยละ 40 หรือเท่ากับ 72 ลำนอกฮ่องกง จากเดิมที่คาดว่าจะจอด 60 ลำ เพราะในระยะสั้นมีความต้องการใช้เครื่องบินลดลง ขณะนี้บริษัทกำลังเผชิญพายุใหญ่ และจะไม่รอดหากไม่ปรับตัวสำหรับตลาดการเดินทางแบบใหม่ การปรับโครงสร้างเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เพื่อปกป้องบริษัท ความเป็นศูนย์กลางการบินของฮ่องกง และชีวิตผู้คนให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้
สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศหรือไออาตา (IATA) คาดว่า อุตสาหกรรมการบินโลกจะไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ก่อนปี 2567 ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายลูกค้าและพาณิชย์คาเธ่ย์แปซิฟิคเผยว่า เดือนสิงหาคมที่ผ่านมามีผู้โดยสารเพียง 35,773 คน ลดลงจาก 42,984 คนในเดือนกรกฎาคม และลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคมปีก่อนที่มีผู้โดยสาร 4.46 ล้านคน ช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้บริษัทขาดทุน 9,870 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง (ราว 39,920 ล้านบาท) แม้ได้รับเงินอัดฉีดจากรัฐบาล 27,300 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง (ราว 110,420 ล้านบาท) ในเดือนมิถุนายนก็ยังขาดทุนเฉลี่ยเดือนละ 1,500-2,000 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง (ราว 6,060-8,090 ล้านบาท) อย่างไรก็ดี ธุรกิจการขนส่งสินค้าถือว่าหดตัวน้อยกว่าธุรกิจขนส่งผู้โดยสาร เพราะทำรายได้ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้มากกว่ารายได้จากค่าตั๋วโดยสาร.-สำนักข่าวไทย