ปักกิ่ง 23 ก.ค.- การยกเลิกนโยบายมีลูกคนเดียวในปี 2559 ให้คู่สมรสชาวจีนมีลูกได้สองคน ทำให้เกิดกระแสการให้ลูกคนที่สองใช้นามสกุลหรือแซ่ฝั่งมารดามากขึ้น สวนทางค่านิยมดั้งเดิมที่ลูกต้องใช้แซ่ฝั่งบิดาเท่านั้น
สำนักงานบริหารประชากรนครเซี่ยงไฮ้เผยว่า เด็กเกิดใหม่ 1 ใน 10 คนเมื่อปี 2561 จดทะเบียนเกิดด้วยแซ่ฝั่งมารดา เด็กหลายคนใช้ทั้งแซ่บิดาและมารดาร่วมกัน ปีที่แล้วเทนเซ็นต์ บริษัทอินเตอร์เน็ตยักษ์ใหญ่ของจีนศึกษาชื่อชาวจีนพบว่า มีชาวจีนกว่า 1.1 ล้านคนที่ใช้แซ่บิดาและมารดาร่วมกัน เพิ่มขึ้นถึงสิบเท่าจากปี 2533 ส่วนเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาโลกออนไลน์จีนเกิดกระแสถกเถียงอย่างหนักเรื่องเด็กควรใช้แซ่ฝั่งบิดาโดยอัตโนมัติหรือไม่ หลังจากสตรีคนหนึ่งโพสต์ในเวยปั๋วว่า หย่าสามีเพราะไม่ยอมให้ลูกใช้แซ่ของเธอ โพสต์ของเธอมีคนแชร์กว่า 47,000 ครั้ง ก่อนถูกเวยปั๋วลบออก ปกติแล้วสตรีจีนจะใช้แซ่เดิมของตนเองแม้แต่งงานแล้ว ขณะที่กฎหมายให้ลูกใช้แซ่ตามบิดาหรือมารดาก็ได้ แต่ส่วนใหญ่มักใช้ตามบิดา
นักวิชาการที่ศึกษาเรื่องการเมืองกับเพศสภาพของจีน มหาวิทยาลัยคิงส์คอลเลจลอนดอนมองว่า กระแสการใช้แซ่ฝั่งมารดาสะท้อนถึงความสัมพันธ์สามีภรรยาในจีนที่เปลี่ยนแปลงไป สตรีที่ให้ลูกใช้แซ่ของตัวเองมักมีรายได้สูงกว่าสามีหรือมาจากตระกูลร่ำรวยหรือทรงอิทธิพล เพราะนโยบายลูกคนเดียวที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2522 ทำให้ลูกสาวที่เป็นลูกคนเดียวของบ้านได้รับการปฏิบัติเยี่ยงลูกชาย มีความเท่าเทียมในการเข้าถึงการศึกษาและโอกาสการจ้างงาน ขณะที่ในชนบทการให้ลูกใช้แซ่ฝั่งบิดาหรือมารดามีผลใหญ่หลวงต่อสตรี เนื่องจากผู้ชายมักเป็นผู้ได้รับมรดกของครอบครัวเพราะสืบทอดแซ่ของตระกูล.- สำนักข่าวไทย