กรุงเทพฯ 27 ก.พ. – รมว.เกษตรฯ เผย มกอช. มีมติยกเลิกนำเข้าเมล็ดถั่วลิสงแห้งดิบไม่ได้มาตรฐานจากอินเดีย พร้อมสร้างความมั่นใจในคุณภาพรังนกบ้าน ผลักดันให้ส่งออกเพิ่ม สร้างรายได้ให้เกษตรกร
ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร โดยมีนายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้บริหารในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ยกเลิกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง การนำเข้าเมล็ดถั่วลิสงแห้งดิบหรือเมล็ดถั่วลิสงกะเทาะเปลือกจากสาธารณรัฐอินเดีย เพื่อให้ผู้บริโภคในประเทศมั่นใจได้ว่า จะได้รับผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพมาตรฐานระดับสากล ทั้งนี้ผู้นำเข้ายังสามารถนำเข้าเมล็ดถั่วลิสงจากสาธารณรัฐอินเดียได้ โดยใช้ใบรับรองมาตรฐานบังคับ (มกษ. 4702-2557) หรือมาตรฐานสากล เช่น GHP, HACCP และ ISO 22000 และใบรายงานผลวิเคราะห์ ทดแทนการใช้ใบรับรองการส่งออก (Certification of Export) ภายใต้การกำกับดูแลของ Agricultural and Processed Food Products Export Development Authority (APEDA) จากสาธารณรัฐอินเดีย
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร และประกาศเป็นมาตรฐานทั่วไปของประเทศ ได้แก่ 1.จิ้งหรีดแห้ง 2.จิ้งหรีดแช่แข็ง 3.การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับบ้านนกแอ่นกินรัง 4.การปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดีสำหรับสัตว์น้ำเพื่อการบริโภค ความปลอดภัยด้านอาหาร สุขภาพ และสวัสดิภาพสัตว์ สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ-สังคม และ 5. แนวปฏิบัติในการใช้มาตรฐานสินค้าเกษตร การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชสมุนไพร
สำหรับการทำรังนกส่งออก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เน้นย้ำการดูแลมาตรฐานสินค้าเกษตรเนื่องจากซึ่งปัจจุบันผู้ประกอบการจากประเทศจีนต้องการนำเข้ารังนกถ้ำมากกว่ารังนกบ้าน เนื่องจากเป็นรังนกคุณภาพสูง และเป็นที่ต้องการของตลาด หากประเทศไทยสามารถจัดการมาตรฐานรังนกบ้านให้ผู้ประกอบการมีความมั่นใจในคุณภาพสินค้าอาจช่วยให้มีการส่งออกเพิ่มมากขึ้น
พร้อมกันนี้ได้มอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) และกรมวิชาการเกษตร ร่วมมือกันตรวจสอบผู้ประเมินของหน่วยรับรองสถานประกอบการ เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาด้านคุณภาพสินค้าให้การรับรองเป็นไปตามมาตรฐานสากล และสามารถตรวจสอบย้อนกลับไปยังผู้ประเมินได้ ซึ่งจะช่วยให้คู่ค้ามีความมั่นใจในสินค้าเกษตรไทยมากยิ่งขึ้น. -512 – สำนักข่าวไทย