นิวเดลี 22 เม.ย.- ผู้เชี่ยวชาญบางคนแนะนำว่า การปล่อยให้เกิดภูมิต้านทานหมู่อาจเป็นวิธีรับมือกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ที่เหมาะสมกับประเทศยากจนแต่ประชากรเป็นคนหนุ่มสาวอย่างอินเดีย ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญบางคนติงว่าเป็นแนวคิดที่เสี่ยงเกินไป
การปล่อยให้เกิดภูมิต้านทานหมู่เป็นการให้ประชาชนส่วนใหญ่ติดเชื้อแล้วหายเอง เพราะจะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจและทำให้ผู้คนยากลำบากน้อยกว่าการใช้มาตรการปิดเมืองเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาด นักระบาดวิทยาชาวอินเดียคนหนึ่งชี้ว่า ประเทศที่มีประชากรมากถึง 1,300 ล้านคนอย่างอินเดียไม่สามารถใช้มาตรการปิดเมืองเป็นเวลานาน การปล่อยให้เกิดภูมิต้านทานหมู่ไปถึงจุดหนึ่งอาจช่วยหยุดการระบาดได้โดยที่ไม่เป็นอันตรายต่อกลุ่มผู้สูงอายุ
คณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยพรินซ์ตันในสหรัฐร่วมกับศูนย์นโยบาย เศรษฐศาสตร์ และพลวัตรด้านโรคซึ่งเป็นกลุ่มสุขภาพในนิวเดลีและวอชิงตันระบุว่า อินเดียเป็นประเทศที่น่าจะใช้ยุทธศาสตร์นี้ได้ผล เพราะประชากรร้อยละ 93.5 อายุต่ำกว่า 65 ปี มีความเสี่ยงต่ำที่จะต้องเข้าโรงพยาบาลหรือเสียชีวิต การปล่อยให้ไวรัสโคโรนาระบาดอย่างมีการควบคุมในช่วง 7 เดือนหน้าจะทำให้ประชากรร้อยละ 60 เกิดภูมิต้านทานหมู่ เมื่อนั้นจะหยุดยั้งการระบาดได้ และอัตราการเสียชีวิตก็จะไม่มากเมื่อเทียบกับยุโรปบางประเทศ วิธีนี้เหมาะกับประเทศกำลังพัฒนาที่ยากจนเพราะไม่สามารถใช้มาตรการปิดเมืองและรักษาระยะห่างทางสังคมเหมือนประเทศพัฒนาแล้ว อีกทั้งยังไม่มีชุดตรวจหาเชื้ออย่างทั่วถึง จึงแนะนำให้อินเดียผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองที่รัฐบาลขยายไปถึงวันที่ 3 พฤษภาคม ให้คนอายุต่ำกว่า 60 ปีกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ แต่รักษาระยะห่างทางสังคมเท่าที่ทำได้ สวมหน้ากากอนามัย ห้ามการรวมตัวกลุ่มใหญ่ หาทางเพิ่มการตรวจหาเชื้อให้มาก แยกผู้ป่วยและผู้ต้องสงสัยป่วย
อย่างไรก็ดี นักวิจัยบางคนติงว่า เป็นแนวคิดที่เสี่ยงเกินไป เพราะอินเดียยังไม่มีศักยภาพมากพอในการแยกผู้ป่วยและดูแลผู้ป่วยหนัก อาจมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากก่อนเกิดภูมิต้านทานหมู่ อีกทั้งอินเดียยังมีปัญหามลพิษทางอากาศและประชากรเป็นโรคอ้วนและโรคเบาหวานสูงมากแม้อายุน้อย เพิ่มความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตมากขึ้น.-สำนักข่าวไทย