ดูไบ 28 ต.ค.- กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ (IMF) ชี้ว่า อัตราว่างงานสูงและภาวะเศรษฐกิจไม่เติบโตเป็นปัจจัยกระตุ้นให้หลายประเทศอาหรับเกิดความตึงเครียดทางสังคมและประชาชนชุมนุมประท้วง
รายงานแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือของไอเอ็มเอฟที่เผยแพร่วันนี้ระบุว่า เหตุไม่สงบที่เกิดจากอัตราว่างงานสูงและเศรษฐกิจไม่เติบโตได้ย้อนกลับมาทำให้เศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ยิ่งชะลอการเติบโตลงไปอีก นอกเหนือจากความตึงเครียดของการค้าโลก ราคาน้ำมันผันผวน และกระบวนการที่สหราชอาณาจักรจะออกจากสหภาพยุโรปหรือเบร็กซิทไม่เป็นไปตามกำหนด ก่อนหน้านี้ในเดือนเดียวกันไอเอ็มเอฟได้ปรับลดประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ลงเหลือร้อยละ 0.1 จากร้อยละ 1.1 เมื่อปีก่อน โดยได้ลดแนวโน้มของเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดสามประเทศคือ ซาอุดีอาระเบีย อิหร่านและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์หรือยูเออี (UAE) เพราะปัจจัยโลกเป็นหลัก
ผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟประจำตะวันออกกลางและเอเชียกลางกล่าวว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ต่ำกว่าระดับที่จำเป็นต่อการแก้ไขปัญหาว่างงาน อัตราว่างงานของคนหนุ่มสาวเกินร้อยละ 25-30 แล้ว เศรษฐกิจต้องโตกว่านี้ร้อยละ 1-2 จึงจะแก้ปัญหาได้ ขณะที่อัตราว่างงานเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 11 เทียบกับร้อยละ 7 ในประเทศกำลังพัฒนาและตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่อื่น ๆ รัฐบาลในภูมิภาคนี้จะต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วและจริงจังในการแก้ไขความไม่สมดุลต่าง ๆ และกอบกู้ความเชื่อมั่นกลับคืนด้วยการแก้ไขฐานะการเงินและลดค่าใช้จ่าย ปัจจุบันหลายประเทศอาหรับมีหนี้สาธารณะสูงมาก เฉลี่ยแล้วเกินร้อยละ 85 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพี (GDP) ภาระหนี้ที่สะสมมาหลายปีเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนที่มีความสำคัญต่ออนาคตเศรษฐกิจในระยะยาว
หลายประเทศอาหรับเกิดการประท้วงขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2553 หลายแห่งบานปลายกลายเป็นสงครามกลางเมืองเช่น ซีเรีย เยเมน ลิเบีย ล่าสุดเกิดการประท้วงขึ้นในแอลจีเรีย ซูดาน อิรัก และเลบานอน ส่วนใหญ่เป็นการเรียกร้องให้ปฏิรูปเศรษฐกิจและกวาดล้างการทุจริต รายงานไอเอ็มเอฟกล่าวถึงอิหร่านว่า เศรษฐกิจอาจจะหดตัวถึงร้อยละ 9.5 ในปีนี้ หลังจากหดตัวร้อยละ 4.8 เมื่อปีก่อน ทางการอิหร่านจะต้องปรับอัตราแลกเปลี่ยนให้ใกล้เคียงกับอัตราตลาด ปฏิรูปภาคการเงิน และหาทางแก้ไขอัตราเงินเฟ้อที่สูงมาก เอเอฟพีระบุว่า มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐทำให้อิหร่านส่งออกน้ำมันดิบได้เพียงวันละ 500,000 บาร์เรล จากที่เคยส่งออกมากกว่าวันละ 2 ล้านบาร์เรล.- สำนักข่าวไทย