บาร์เซโลนา 5 มิ.ย.- องค์การอนามัยโลกเตือนเนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก 5 มิถุนายนว่า ไม่มีใครบนโลกนี้รอดพ้นจากภัยของมลพิษทางอากาศ เพราะ 9 ใน 10 คนกำลังสูดเอาอากาศพิษเข้าปอดอยู่ทุกวัน ทำให้มีคนเสียชีวิตปีละ 7 ล้านคน
มูลนิธิธอมป์สันรอยเตอร์ ซึ่งเป็นหน่วยงานการกุศลของธอมป์สันรอยเตอร์รวบรวมข้อมูลของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ องค์การอนามัยโลก ธนาคารโลก และโครงการรณรงค์ Every Breath Matters ได้ข้อเท็จจริงน่ารู้ 10 ประการเกี่ยวกับผลกระทบของมลพิษทางอากาศต่อมนุษย์และการเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
1. มลพิษทางอากาศฆ่าคนชั่วโมงละ 800 คน หรือนาทีละ 13 คน มากกว่ายอดผู้เสียชีวิตจากมาลาเรีย วัณโรคและเอดส์ในแต่ละปีรวมกันกว่าสามเท่า
2. สารก่อมลพิษบางประเภททำให้เกิดทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและมลพิษในพื้นที่ เช่น ก๊าซมีเทน เขม่าที่เกิดจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์จากเตาหุงอาหารและเครื่องยนต์ดีเซล
3. แหล่งก่อมลพิษทางอากาศหลัก 5 แหล่งได้แก่ การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ไม้ และชีวมวลภายในอาคารเพื่อให้ความร้อน หุงหาอาหารและแสงสว่าง การผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินและเครื่องปั่นไฟที่ใช้น้ำมันดีเซล การขนส่งโดยเฉพาะยวดยานที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล การเกษตรและปศุสัตว์ที่ก่อให้เกิดก๊าซมีเทนและแอมโมเนียรวมถึงการเผาทางการเกษตร สุดท้ายคือการเผาขยะในที่โล่งและการทิ้งขยะอินทรีย์ตามแหล่งทิ้งขยะ
4. มลพิษทางอากาศที่เกิดจากครัวเรือนทำให้คนเสียชีวิตก่อนวัยอันควรปีละ 3.8 ล้านคน ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา และร้อยละ 60 เป็นเด็กและสตรี
5. ร้อยละ 93 ของเด็กทั่วโลกอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีค่ามลพิษทางอากาศสูงกว่าเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก ปี 2559 เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เสียชีวิตเพราะติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจถึง 600,000 คน
6. มลพิษทางอากาศเป็นสาเหตุร้อยละ 26 ของการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจขาดเลือด ร้อยละ 24 ของการเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดสมอง ร้อยละ 43 ของการเสียชีวิตด้วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และร้อยละ 29 ของการเสียชีวิตด้วยมะเร็งปอด มลพิษทางอากาศถูกโยงว่าทำให้เด็กมีน้ำหนักตัวแรกเกิดต่ำ เป็นหอบหืด เป็นมะเร็งตั้งแต่เด็ก เป็นโรคอ้วน ปอดมีปัญหา มีอาการออทิสติก และปัญหาสุขภาพอีกหลายอย่าง
7. ร้อยละ 97 ของเมืองต่าง ๆ ในประเทศรายได้น้อยและปานกลางที่มีคนอาศัยไม่ต่ำกว่า 1 แสนคน คุณภาพอากาศไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำขององค์การอนามัยโลก ส่วนเมืองต่าง ๆ ในประเทศรายได้สูงมีปัญหานี้ร้อยละ 29
8. ร้อยละ 25 ของฝุ่นละอองที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศในเขตเมืองเกิดจากการจราจร ร้อยละ 20 เกิดจากการเผาเชื้อเพลิงในครัวเรือน และร้อยละ 15 เกิดจากภาคอุตสาหกรรม
9. การรักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้น 2 องศาเซลเซียสตามที่รัฐบาลประเทศต่าง ๆ รับปากไว้ในข้อตกลงปารีสปี 2558 อาจช่วยชีวิตคนได้ปีละ 1 ล้านคนภายในปี 2593 เพราะทำให้มลพิษทางอากาศลดลง
10. 15 ประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลกต้องเสียงบประมาณดูแลสุขภาพประชาชนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพี ขณะที่การลงทุนเพื่อรักษาอุณหภูมิโลกตามข้อตกลงปารีสจะใช้งบเพียงร้อยละ 1 ของจีดีพีเท่านั้น.-สำนักข่าวไทย