ปารีส 25 ม.ค. – ผู้เชี่ยวชาญจากหลายหน่วยงานรวมถึงองค์การสหประชาติร่วมกันริเริ่มแนวทางการแก้ไขปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่นับวันจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ และเป็นภัยต่อทั้งเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม
ในแต่ละปี ทั่วโลกสร้างขยะอิเล็กทรอนิกส์เกือบ 50 ล้านตันจากการที่ผู้บริโภคและบริษัทธุรกิจทิ้งสมาร์ทโฟนเก่า คอมพิวเตอร์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน โดยมีจำนวนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ที่นำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งเป็นการสกัดเอาโลหะและธาตุที่มีค่าที่ใช้ในการผลิตวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้สหประชาชาติ เวิร์ล อีโคโนมิก ฟอรัม และ สภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่ร่วมประชุมที่เมืองดาวอส ในสวิตเซอร์แลนด์ ได้ร่วมกันเรียกร้องเป็นครั้งแรกให้ทั่วโลกร่วมกันแก้ไขปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ ผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติเรื่องขยะอิเล็กทรอนิกส์กล่าวว่า การร่วมมือกันแก้ไขเรื่องนี้มีความจำเป็นเพราะหากไม่ดำเนินการใด ๆ แล้ว ภายในปี 2050 จะมีขยะอิเล็กทรอนิกส์ปีละ 120 ล้านตัน ซึ่งจะส่งผลกระทบกับชีวิตประชาชน โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา มีการนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มารีไซเคิลราวร้อยละ 20 เท่านั้น ส่วนที่เหลือเป็นล้าน ๆ ตันถูกนำไปฝังดิน นำไปปะปนกับขยะโลหะอื่น ๆ ซึ่งไม่ถูกต้อง หรือ ส่งออกอย่างผิดกฏหมายไปยังประเทศยากจน ผู้เชี่ยวชาญเรียกร้องให้มีการสร้างเครือข่ายของการเก็บขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกันผู้ใช้ต้องทิ้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างเหมาะสม มิใช่ทิ้งของเก่าใส่ลิ้นชักหรือตู้เอาไว้ เมื่อมีสินค้ารุ่นใหม่ออกมา.-สำนักข่าวไทย