สหรัฐ 2 ม.ค.- องค์การนาซาเปิดเผยความสำเร็จล่าสุดของยานสำรวจอวกาศ ซึ่งบินไปถึงบริเวณที่ไกลที่สุดของระบบสุริยจักรวาลและเข้าใกล้วัตถุบนท้องฟ้าที่อาจไขความลับเกี่ยวกับการก่อกำเนิดของโลก
หลังเข้าสู่ปีใหม่ได้ไม่กี่ชั่วโมง คณะทำงานของยานสำรวจอวกาศนิวฮอไรซันส์ ที่เมืองลอเรล รัฐแมรีแลนด์ เปิดเผยข่าวดีว่า ยานสำรวจอวกาศนิวฮอไรซันส์ได้เข้าไปถึงบริเวณแถบไคเปอร์ ซึ่งเป็นบริเวณที่ไกลที่สุดของระบบสุริยจักรวาลเท่าที่เคยสำรวจมา และยังบินเข้าไปใกล้กับวัตถุบนท้องฟ้าซึ่งเป็นก้อนหินรูปทรงคล้ายถั่วลิสง ความยาว 32 กิโลเมตร ที่ตั้งชื่อ อัลติมา ทูลี อยู่ห่างจากโลก 6,500 ล้านกิโลเมตร โดยอัลติมา ทูลี ลอยอยู่ห่างจากดาวพลูโตซึ่งเป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ไกลจากโลกมากที่สุดราว 1,600 ล้านกิโลเมตร นาซาหวังว่าจะได้เรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับการก่อกำเนิดของโลกและดาวเคราะห์อื่นๆ จากภาพถ่ายและข้อมูลต่างๆ อาทิ ส่วนประกอบทางเคมีของชั้นบรรยากาศ และภูมิประเทศของอัลติมา ทูลี ที่ยานสำรวจเก็บรวบรวมได้จากการบินอยู่เหนืออัลติมา ทูลี กว่า 3,500 กิโลเมตร และเริ่มทยอยส่งกลับมายังพื้นโลก
นักวิทยาศาสตร์ของนาซาพบ อัลติมา ทูลี ครั้งแรกเมื่อปี 2557 จากภาพที่ถ่ายโดยกล้องโทรทรรศน์ฮับเบิล จึงตัดสินใจที่จะศึกษาก้อนหินบนอวกาศก้อนนี้ด้วยยานนิวฮอไรซันส์ หลังเสร็จสิ้นภารกิจในการบินสำรวจไปยังดาวพลูโตเมื่อปี 2558 . – สำนักข่าวไทย