จาการ์ตา 21 ธ.ค.- รัฐบาลอินโดนีเซียมีความขัดแย้งกันเรื่องการนำเข้าขยะพลาสติกจากต่างประเทศ เมื่อกระทรวงอุตสาหกรรมเสนอให้นำเข้ามากขึ้นเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ หลังจากกระทรวงสิ่งแวดล้อมสั่งงดนำเข้าตั้งแต่กลางปี
กระทรวงสิ่งแวดล้อมอินโดนีเซียมีคำสั่งเมื่อเดือนมิถุนายนระงับการนำเข้าขยะมูลฝอย เพราะเกรงว่าขยะจากโลกตะวันตกจะทะลักเข้ามาหลังจากจีนเริ่มห้ามนำเข้าตั้งแต่เดือนมกราคม แต่กระทรวงอุตสาหกรรมมีหนังสือถึงกระทรวงสิ่งแวดล้อมเมื่อเดือนก่อนให้ยกเลิกคำสั่งนี้โดยให้เหตุผลว่า อินโดนีเซียจำเป็นต้องนำเข้าขยะมูลฝอยปีละ 600,000 ตัน มากกว่าที่นำเข้าปกติปีละ 110,000 ตัน เพราะการส่งออกพลาสติกรีไซเคิลทำให้ประเทศเกินดุลการค้า 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1,307 ล้านบาท) ขณะที่กลุ่มวิ่งเต้นอ้างว่า ธุรกิจพลาสติกจ้างงานคนโดยตรง 130,000 คน และช่วยให้อีกหลายล้านคนมีเงินจากนำขยะพลาสติกไปขาย ส่วนสมาคมรีไซเคิลพลาสติกมองว่า การนำเข้าขยะมารีไซเคิลเป็นพลาสติกใช้ใหม่มีต้นทุนต่ำกว่าการผลิตพลาสติกเอง และเป็นโอกาสทางธุรกิจตราบใดที่ดำเนินมาตรการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วย
วารสารไซเอินซ์เผยแพร่ผลการศึกษาเมื่อปี 2558 ว่า อินโดนีเซียเป็นประเทศต้นตอขยะพลาสติกในทะเลมากเป็นอันดับสองของโลกรองจากจีน เพราะขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นปีละ 3.2 ล้านตัน เกือบครึ่งไปลอยอยู่ในทะเล เดือนที่แล้วอินโดนีเซียพบซากวาฬหัวทุยที่ในท้องมีขยะพลาสติกมากถึง 6 กิโลกรัม รัฐบาลประธานาธิบดีโจโก วิโดโดประกาศเมื่อปีก่อนว่า จะทุ่มงบประมาณปีละ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 32,695 ล้านบาท) ลดขยะพลาสติกในทะเลลงให้ได้ร้อยละ 70 ภายในปี 2568 อย่างไรก็ดี แผนการยกเลิกการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกทุกอย่างที่ประกาศใช้ในปี 2559 ถูกลดทอนให้เหลือแค่ห้ามใช้ถุงพลาสติกตามซูเปอร์มาร์เก็ต และยังไม่มีการบังคับใช้อย่างจริงจัง.-สำนักข่าวไทย