โตเกียว 6 ก.ค.- ญี่ปุ่นประหารชีวิตนักโทษล่าสุดในวันนี้เป็นผู้นำและสาวกลัทธิโอม ชินริเกียวรวม 7 คนที่ใช้แก๊สพิษซารินในรถไฟใต้ดินเมื่อปี 2538 มีผู้เสียชีวิต 13 คน ทำให้ญี่ปุ่นและสหรัฐเป็นสองประเทศในกลุ่มชาติอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ (จี7) ที่ยังคงใช้โทษประหารชีวิต
ญี่ปุ่นประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ เพชรฆาต 3 คน จะกดปุ่มเปิดพื้นที่นักโทษยืนอยู่ โดยกดพร้อมกันทำให้ไม่รู้ว่าพื้นเปิดเพราะใคร ภายในห้องประหารมีเพียงเจ้าหน้าที่เรือนจำและพระ 1 รูป ข้อมูลล่าสุดของกระทรวงยุติธรรมญี่ปุ่นเผยว่า ปี 2555-2559 ประหารนักโทษไปแล้ว 24 คน นักโทษประหารจะรู้ชะตากรรมล่วงหน้าเพียง 1 ชั่วโมงในเช้าวันนั้น ต่างจากสหรัฐที่จะกำหนดวันล่วงหน้าและประกาศให้สาธารณชนทราบ คณะกรรมการต่อต้านการทรมานของสหประชาชาติตำหนิญี่ปุ่นว่า ทำให้นักโทษและครอบครัวตกอยู่ในภาวะเครียด กระทรวงยุติธรรมจะประกาศข่าวประหารหลังจากสำเร็จโทษไปแล้ว ส่วนชื่อและความผิดที่กระทำเริ่มมีการประกาศตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา การประหารกลุ่มโอม ชินริเกียวในวันนี้เป็นการประหารหมู่ครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ญี่ปุ่นเริ่มเปิดเผยข่าวการประหารเป็นครั้งแรกในปี 2541
นักโทษประหารในญี่ปุ่นสามารถยื่นฎีกา และถึงแม้ศาลฎีกาพิพากษายืนก็ยังสามารถยื่นขอให้เปิดการไต่สวนใหม่ แต่ไม่ใช่เครื่องรับประกันว่าจะรอดจากโทษประหาร กฎหมายญี่ปุ่นกำหนดให้ต้องประหารภายใน 6 เดือนหลังมีคำตัดสินอันเป็นที่สุด แต่ในทางปฏิบัติแล้วมักใช้เวลานานหลายปี ขึ้นกับการตัดสินใจของกระทรวงยุติธรรม รัฐบาลญี่ปุ่นสอบถามความเห็นประชาชนในปี 2558 พบว่า ร้อยละ 80.3 สนับสนุนให้คงโทษประหารไว้ เทียบกับชาวอเมริกันที่สนับสนุนร้อยละ 54 รัฐมนตรียุติธรรมญี่ปุ่นกล่าวในวันนี้ว่า การประหารชีวิตผู้กระทำความผิดร้ายแรงและโหดร้ายอย่างสุดขีดเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ขณะที่กลุ่มทนายความเรียกร้องเมื่อปี 2559 ให้ยกเลิกโทษประหารภายในปี 2563 โดยอ้างว่ามีโอกาสที่จะตัดสินผิดและกระแสโลกคัดค้านการประหาร.- สำนักข่าวไทย