มุมไบ 29 มิ.ย.- บริษัทข้ามชาติหลายแห่งขอให้รัฐมหาราษฏระ ทางตะวันตกของประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับสองและมีพื้นที่มากเป็นอันดับสาม ผ่อนปรนคำสั่งห้ามใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง เพราะจะทำให้บริษัทมีต้นทุนเพิ่มขึ้นมาก
แหล่งข่าวสี่รายเผยว่า ตัวแทนบริษัทข้ามชาติหลายแห่ง เช่น แอมะซอน เอชแอนด์เอ็ม เป๊ปซี่ โคคา-โคล่า ตัวแทนอุตสาหกรรมพลาสติกและกลุ่มวิ่งเต้น ได้เข้าพบเจ้าหน้าที่รัฐมหาราษฏระในช่วงหลายวันก่อนที่คำสั่งห้ามใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ขอให้ทางการทยอยบังคับใช้คำสั่งและผ่อนปรนเกณฑ์บางอย่าง คำสั่งดังกล่าวครอบคลุมตั้งแต่ถุง ช้อนส้อม ถ้วย ภาชนะใส่อาหาร และพลาสติกห่อสินค้า ผู้ฝ่าฝืนมีโทษปรับสูงสุด 25,000 รูปี (ราว 12,000 บาท) และจำคุกสูงสุด 3 เดือน อย่างไรก็ดี รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมของรัฐเผยเมื่อวันพุธว่า จะผ่อนปรนให้ร้านขายของชำรายย่อยใช้ถุงพลาสติกใส่ข้าวและธัญพืช แต่ร้านต้องให้ลูกค้านำถุงมาคืนเพื่อรีไซเคิล
อุตสาหกรรมพลาสติกร้องเรียนว่า คำสั่งนี้จะเพิ่มต้นทุนถึงปีละ 150,000 ล้านรูปี (ราว 72,500 ล้านบาท) และทำให้คนตกงาน 300,000 คน สมาคมผู้ผลิตถุงพลาสติกแห่งอินเดียเรียกร้องให้ทางการให้เวลาผ่อนผัน 7 ปี เพราะเรื่องแบบนี้ไม่สามารถทำได้ภายในช่วงข้ามคืน ผู้ผลิตต้องลงทุน มีหนี้เงินกู้ต้องจ่าย และมีพนักงานต้องดูแล ขณะที่สหพันธ์หอการค้าและอุตสาหกรรมอินเดียส่งหนังสือถึงรัฐบาลรัฐมหาราษฏระเมื่อวันที่ 7 มิถุนายนว่า คำสั่งนี้จะมีผลทางลบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแน่นอนจากการใช้วัสดุอื่นที่ไม่ใช่พลาสติก ด้านบริษัทน้ำอัดลมขอได้รับการให้ยกเว้นเพราะบริษัทมีมาตรการรับซื้อขวดเปล่าในราคารับประกันที่เป็นการเพิ่มต้นทุนอยู่แล้ว
รัฐมหาราษฏระซึ่งเป็นที่ตั้งของนครมุมไบ เมืองหลวงเศรษฐกิจของอินเดีย เป็นรัฐแรกของประเทศที่มีคำสั่งดังกล่าว ขณะที่นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดีตั้งเป้าจะยุติการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้งทั่วประเทศภายในปี 2565 ข้อมูลของสหประชาชาติเผยว่า ขยะพลาสติกทั่วโลกเกือบครึ่งหนึ่งเป็นบรรจุภัณฑ์พลาสติก ส่วนใหญ่ถูกทิ้งหลังใช้เพียงครั้งเดียว.- สำนักข่าวไทย