วอชิงตัน 14 มิ.ย.- คณะนักวิจัยสากลออกผลการศึกษาใหม่ว่า แผ่นน้ำแข็งที่ทวีปแอนตาร์กติกาบริเวณขั้วโลกใต้กำลังละลายเร็วกว่าเดิม โดยพบว่าละลายเร็วกว่าการศึกษาครั้งก่อนถึง 3 เท่า
ผลการศึกษาที่เผยแพร่ในวารสารเนเจอร์ระบุว่า ช่วง 25 ปีมานี้ตั้งแต่ปี 2535 จนถึงปี 2560 แผ่นน้ำแข็งขั้วโลกใต้ที่เป็นดัชนีสำคัญในการบ่งชี้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ละลายไปแล้ว 3 ล้านล้านตัน มากพอที่จะท่วมรัฐเทกซัสได้สูงถึง 4 เมตร และทำให้มหาสมุทรทั่วโลกมีระดับน้ำเพิ่มขึ้น 3/10 นิ้ว ที่น่ากังวลคือ ช่วงปี 2535-2554 แผ่นน้ำแข็งขั้วโลกใต้ละลายปีละเกือบ 84,000 ล้านตัน แต่ช่วงปี 2555-2560 กลับละลายปีละไม่ต่ำกว่า 241,000 ล้านตัน หรือเร็วขึ้นถึง 3 เท่า ฝั่งตะวันตกของแอนตาร์กติกาซึ่งเป็นจุดที่มีการละลายมากที่สุดขณะนี้อยู่ในภาวะใกล้ถล่มแล้ว
การศึกษาครั้งนี้มีนักวิจัยเข้าร่วมมากถึง 88 คน ใช้ดาวเทียม 10-15 ดวงสังเกตแผ่นน้ำแข็งทั้งหมด 24 จุด ควบคู่ไปกับการคำนวณภาคพื้นดินและทางอากาศ และการจำลองด้วยคอมพิวเตอร์ คณะนักวิจัยชี้ว่า มีความเป็นไปได้ว่าเฉพาะแผ่นน้ำแข็งขั้วโลกใต้เพียงแห่งเดียวอาจทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้น 16 เซนติเมตรภายในสิ้นศตวรรษนี้ ยังไม่รวมแผ่นน้ำแข็งที่เกาะกรีนแลนด์และน่านน้ำอุ่นที่แผ่ขยายกินพื้นที่มากขึ้น.-สำนักข่าวไทย