กรุงเทพฯ 31 ม.ค.- องค์การอาหารโลกและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) เตือนว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้สารปฏิชีวนะในอาหารมากเกินไปและใช้อย่างผิด ๆ เป็นอันตรายต่อคนและสัตว์ เพราะจะทำให้เชื้อแบคทีเรียดื้อยามากยิ่งขึ้น
ดร.ฆวน ลูโบรธ หัวหน้าสัตวแพทย์เอฟเอโอเตือนนอกรอบการประชุมนานาชาติว่าด้วยการดื้อยาต้านจุลชีพ (เอเอ็มอาร์) ที่กรุงเทพฯ ในวันนี้ว่า ปัญหาเอเอ็มอาร์กำลังแผ่ขยายตามมหานครในเอเชียที่ประชากรขยายตัวอย่างรวดเร็ว มีการผลิตอาหารและพืชผลทางการเกษตรอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ถือเป็นจุดน่าเป็นห่วงเพราะประชากรเพิ่มขึ้น มีความเปลี่ยนแปลงของความเป็นเมืองตลอดเวลา และมีการผลิตอาหาร รายงานที่องค์การอนามัยโลกเผยแพร่เมื่อวันจันทร์ระบุว่า พบผู้ที่น่าจะติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยามากถึง 500,000 คน ใน 22 ประเทศทั่วโลก
ดร.ลูโบรธอ้างรายงานปี 2559 ของนักเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลอังกฤษว่า หากไม่แก้ไขปัญหาเอเอ็มอาร์ จะเกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากถึง 100 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3,133 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2593 และในระหว่างนั้นจะมีผู้เสียชีวิตเพราะเอเอ็มอาร์มากถึง 10 ล้านคนต่อปี ดร.ลูโบรธระบุว่า ร้อยละ 90 ของผู้เสียชีวิตเหล่านี้จะอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก เอฟเอโออยากให้ทุกภาคส่วนช่วยทำให้ผู้เลี้ยงสัตว์ทราบถึงอันตรายของการใช้สารปฏิชีวนะเพื่อเร่งโต และบังคับใช้ระเบียบดูแลการผลิตอาหารปลอดภัยอย่างเคร่งครัดมากขึ้น.- สำนักข่าวไทย