TNA News-Now-Next: ทำไมแผ่นดินไหวเมียนมามีผู้เสียชีวิตมาก

เนปยีดอ 2 เม.ย. – จากการประเมินอัตโนมัติของสำนักงานสำรวจธรณีวิทยาของสหรัฐ หรือ ยูเอสจีเอส (USGS) ระบุว่า แผ่นดินไหวระดับตื้นขนาด 7.7 ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองสะกาย ในภาคกลางของเมียนมา เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ทำให้เกิดการเตือนภัยระดับสีแดง จากจำนวนผู้เสียชีวิตและความเสียหายทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเกิดจากเหตุแผ่นดินไหว ยอดผู้เสียชีวิตล่าสุดพุ่งเข้าใกล้ 3,000 รายแล้ว แต่เชื่อว่าจำนวนผู้เสียชีวิตที่แท้จริงจะเพิ่มสูงกว่านี้อีกมาก


การวิเคราะห์ของยูเอสจีเอสระบุว่า มีโอกาสร้อยละ 35 ที่จำนวนผู้เสียชีวิตอาจอยู่ในช่วง 10,000-100,000 คน ขณะที่พบความเสียหายเป็นวงกว้าง เนื่องจากศูนย์กลางของแผ่นดินไหวอยู่ใกล้กับเมืองมัณฑะเลย์ เมืองใหญ่อันดับสองในภาคกลางของเมียนมา ซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่กว่า 1.7 ล้านคน นั่นแปลว่า ความเสียหายทางเศรษฐกิจ อาจสูงถึงหลายหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐเกินกว่าขนาดผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพี ของเมียนมา

ขณะที่โครงสร้างพื้นฐานที่อ่อนแอ ทำให้ความพยายามในการกู้ภัยและบรรเทาทุกข์ในเมียนมา ประเทศที่อยู่อย่างโดดเดี่ยว จากการเป็นรัฐบาลทหาร เป็นไปอย่างยากลำบาก ขณะที่ระบบกู้ภัยและการรักษาพยาบาล ก็ได้รับผลกระทบจากสงครามกลางเมืองที่เกิดจากการรัฐประหารในปี 2021 มานานกว่า 4 ปีแล้ว


รอยเลื่อนที่อันตราย
บิล แม็กไกว ศาสตราจารย์กิตติคุณด้านธรณีฟิสิกส์และภัยพิบัติด้านสภาพอากาศจากยูนิเวอร์ซิตี คอลเลจ ลอนดอน (University College London) หรือ ยูซีแอล (UCL) กล่าวว่า แผ่นดินไหวครั้งนี้อาจเป็นแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่สุดของเมียนมาในรอบเกือบศตวรรษ และเกิดอาฟเตอร์ช็อก หรือ แรงสั้นสะเทือนหลังเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.7 ขึ้น ไม่กี่นาทีหลังจากเกิดแผ่นดินไหวครั้งแรก และเตือนว่า “อาจเกิดแผ่นดินไหวมากกว่านี้”

ขณะที่ รีเบคกา เบลล์ ผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยาจากอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน (Imperial College London) หรือ ไอซีแอล (ICL) ระบุว่า นี่คือรอยเลื่อนแบบ ’ชนข้าง’ ของรอยเลื่อนสะกาย เป็นจุดที่แผ่นเปลือกโลกอินเดียทางทิศตะวันตกมาบรรจบกับแผ่นซุนดา พื้นที่ส่วนใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นรอยเลื่อนที่มีขนาดและการเคลื่อนที่คล้ายคลึงกับรอยเลื่อนซานแอนเดรียส ในรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐ

รอยเลื่อนสะกายมีความยาวมากถึง 1,200 กิโลเมตร และตรงมาก จึงอาจทำให้เกิดแผ่นดินไหวได้เป็นบริเวณกว้าง ยิ่งรอยเลื่อนเคลื่อนตัวมากเท่าใด แผ่นดินไหวก็จะยิ่งรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นรอบนี้ จึงสร้างความเสียหายได้มากเป็นพิเศษ เนื่องจากแผ่นดินไหวเกิดขึ้นในระดับที่ตื้น พลังงานแผ่นดินไหวจึงลดลงเพียงเล็กน้อย ก่อนไปถึงพื้นที่ที่มีผู้คนอาศัยอยู่ด้านบน เกิดเป็นแรงสั่นสะเทือนที่พื้นผิวมาก


ตึกสูงในมัณฑะเลย์เพิ่มขึ้น ทำให้มีตึกถล่มมาก
เอียน วาคินสัน จากภาควิชาธรณีวิทยา มหาวิทยาลัยรอยัล ฮอลโลเวย์ (Royal Holloway) แห่งลอนดอน กล่าวว่า สิ่งที่เปลี่ยนไปในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาคือ อาคารสูงที่สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กที่เพิ่มขึ้น ทำให้เสี่ยงที่จะพังถล่มจากแรงสั่นสะเทือนของแผ่นเดินไหว ขณะที่เมียนมาได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งมาหลายปี และการบังคับใช้เรื่องกฎการออกแบบและการก่อสร้างอาคารก็ไม่เข้มงวดนัก

เหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 7.0 ขึ้นไป ที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ในบริเวณรอยเลื่อนสะกาย เป็นช่วงที่เมียนมายังไม่มีการพัฒนามากนัก บ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างส่วนใหญ่เป็นอาคารโครงไม้เตี้ย ๆ และศาสนสถานที่สร้างด้วยอิฐ เมื่อเกิดแผ่นดินไหวจึงไม่สร้างความเสียหายร้ายแรงมาก

แผ่นดินไหวในครั้งนี้ถือเป็นการทดสอบโครงสร้างพื้นฐานของเมียนมายุคใหม่ครั้งแรก เมื่อเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ ที่มีจุดศูนย์กลางไม่ลึก และเกิดใกล้กับเมืองใหญ่ที่มีตึกสูงสร้างใหม่จำนวนมาก รัฐบาลเมียนมาต้องตระหนักว่า พวกเขามีหน้าที่รับผิดชอบในการกำหนดกฎเกณฑ์การวางแผนและกฎหมายการก่อสร้าง แต่ภัยพิบัติครั้งนี้ เผยให้เห็นสิ่งที่รัฐบาลเมียนมาล้มเหลวในการดำเนินการตั้งแต่ก่อนเกิดแผ่นดินไหว ซึ่งหากทำได้ก็จะสามารถช่วยชีวิตผู้คนได้มากกว่านี้

กรุงเทพฯ อยู่ไกล ทำไมตึกถล่ม
คริสเตียน มาลากา-ชูกีไตป์ จากแผนกวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อมของไอซีแอล (ICL) กล่าวว่า พื้นดินในกรุงเทพมหานคร มีส่วนทำให้เกิดความเสียหายที่รุนแรง แม้ว่าจะอยู่ห่างจากศูนย์กลางแผ่นดินไหวในเมียนมาถึง 1,000 กิโลเมตรก็ตาม แม้ว่ากรุงเทพฯ จะอยู่ห่างจากรอยเลื่อนที่ยังเคลื่อนตัวอยู่มาก แต่ดินที่อ่อนตัวของกรุงเทพฯ ก็ทำให้แรงสั่นสะเทือนรุนแรงขึ้น สิ่งนี้ส่งผลกระทบต่ออาคารสูงโดยเฉพาะเมื่อเกิดแผ่นดินไหวในระยะไกล ขณะเดียวกัน เทคนิคการก่อสร้างในกรุงเทพฯ ที่เน้นใช้ ‘แผ่นพื้นเรียบ’ ซึ่งพื้นจะยึดด้วยเสาเท่านั้น ไม่ใช้คานเสริม เช่น โต๊ะที่มีขารองเท่านั้น ถือเป็นการออกแบบที่มีปัญหา จากการวิเคราะห์วิดีโอเบื้องต้นของอาคารที่ถล่มในกรุงเทพฯ ชี้ให้เห็นว่ามีการใช้เทคนิคการก่อสร้างประเภทนี้

โรแบร์โต เจนติล ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างแบบจำลองความเสี่ยงจากภัยพิบัติจากยูซีแอล (UCL) กล่าวว่า การที่อาคารสูงในกรุงเทพฯ พังทลายลงมาอย่างรุนแรง หมายความว่า อาคารสูงอื่นๆ ในตัวเมืองอาจต้องได้รับการประเมินอย่างละเอียดถี่ถ้วนเช่นกัน

แผ่นดินไหวเกิดขึ้นทุกวัน วันละหลายครั้ง
กรมอุตุนิยมวิทยาของไทย รายงานว่าเกิดสั่นสะเทือนหลังแผ่นดินไหว หรืออาฟเตอร์ช็อค แทบจะเป็นรายชั่วโมงหลังจากแผ่นดินไหวใหญ่ขนาด 7.7 ส่วนใหญ่เป็นแผ่นดินไหวขนาดเล็ก ความรุนแรงไม่เกิน 6.0 รวมถึงเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (31 มี.ค.) ที่เกิดแรงสั่นสะเทือนผลพวงจากแผ่นดินไหวในเมียนมา จนผู้คนตามอาคารสูงในกรุงเทพฯ จำนวนมากพากันแตกตื่นวิ่งหนีตายลงจากอาคาร

หลายคนอาจจะรู้สึกว่า ทำไมแผ่นดินไหวเกิดบ่อยเหลือเกิน แต่ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า การเกิดขึ้นของแรงสั่นสะเทือนหลังแผ่นดินไหว หรืออาฟเตอร์ช็อค ในหลายพื้นที่ พบได้เป็นประจำทุกวัน มาจำเป็นต้องตื่นตระหนกหรือตกใจมากไป

หากดูข้อมูลจากสำนักงานสำรวจธรณีวิทยาของสหรัฐ ซึ่งเกาะติดและรายงานเหตุแผ่นดินไหวทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง ก็จะพบว่าเมื่อวันที่ 31 มีนาคม เกิดแผ่นดินไหวมากถึง 48 ครั้งในช่วง 1 วันที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ความรุนแรงไม่เกิน 6.0 จะมีเพียงแผ่นดินไหวที่ตองกา ขนาด 7.0 เท่านั้นที่มีความรุนแรงมาก และอาฟเตอร์ช็อคขนาด 6.2 ที่เกิดตามมา

ศูนย์ข้อมูลแผ่นดินไหวแห่งชาติ หรือ เอ็นอีไอซี (NEIC) ระบุ จุดเกิดแผ่นดินไหวทั่วโลกประมาณ 20,000 ครั้งต่อปี เฉลี่ยประมาณวันละ 55 ครั้ง แม้จะพบการเกิดแผ่นดินไหวเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ก็ไม่ใช่เรื่องน่าตกใจ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีอุปกรณ์ตรวจจับแผ่นดินไหวที่แม่นยำมากขึ้น อีกทั้งเทคโนโลยีที่ทำให้เราทุกคนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้มากขึ้น และกว้างไกลขึ้น ทำให้เรารู้สึกว่า เกิดเหตุภัยพิบัติบ่อยครั้งขึ้น

นอกจากแผ่นดินไหวทางธรรมชาติ ที่เกิดขึ้นเป็นปกติแล้ว อีโคโนมิก ไทมส์ (Economic Times) รายงานว่า ยังมีแผ่นดินไหวที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การทำเหมือง การสร้างเขื่อน การขุดเจาะใช้น้ำใต้ดิน รวมถึงการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ สิ่งเหล่านี้ก็อาจไปกระตุ้นให้เกิดแผ่นดินไหวได้เช่นกัน ดังนั้น ความถี่ในการเกิดแผ่นดินไหว ไม่ใช่สิ่งที่ต้องกังวล

ตามรายงานของ ยูเอสจีเอส (USGS) แผ่นดินไหวเกิดถี่ขึ้น หรือลดลงชั่วคราว ถือเป็นส่วนหนึ่งของความผันผวนตามปกติของอัตราการเกิดแผ่นดินไหว การที่แผ่นดินไหวเกิดทั่วโลกไม่ได้บ่งชี้ว่าแผ่นดินไหวขนาดใหญ่จะเกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้ ยูเอสจีเอส (USGS) ระบุว่า ตรวจพบการเกิดแผ่นดินไหวมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ไม่ใช่เพราะแผ่นดินไหวเกิดขึ้นมากขึ้นจริง ๆ แต่เพราะมีเครื่องมือตรวจวัดแผ่นดินไหวมากขึ้น และสามารถบันทึกแผ่นดินไหวได้มากขึ้น

ข้อมูลจาก ยูเอสจีเอส (USGS) ที่เก็บข้อมูลมาเกือบ 100 ปี ระบุว่า มีแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ ขนาด 7.0 ขึ้นไป เกิดขึ้นทั่วโลกเฉลี่ยปีละประมาณ 16 ครั้ง ค่าเฉลี่ยนี้ประกอบด้วยแผ่นดินไหวขนาด 7.0 ประมาณ 15 ครั้ง และแผ่นดินไหวขนาด 8.0 ขึ้นไป 1 ครั้ง โดยแผ่นดินไหวที่เมียนมารุนแรงถึงขนาด 7.7 ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก

โลกร้อนทำแผ่นดินไหวเกิดถี่ขึ้นหรือไม่
การวิจัยพบว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ พอจะมีอิทธิพลต่อความถี่ในการเกิดแผ่นดินไหวในบางภูมิภาค ผลการศึกษาล่าสุดโดยนักธรณีวิทยา จากมหาวิทยาลัยโคโลราโดในสหรัฐฯ ที่ได้ศึกษาเทือกเขา ซังเกร เดอ คริสโต (Sangre de Cristo) ทางตอนใต้ของรัฐโคโลราโด ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีรอยเลื่อนที่ยังไม่สงบ พบหลักฐานที่ชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างขนาดของธารน้ำแข็งที่เล็กลง และการเคลื่อนไหวของรอยเลื่อนที่เพิ่มขึ้น

ผลการศึกษาชี้ว่า ในช่วงปลายยุคน้ำแข็ง น้ำหนักของธารน้ำแข็งที่เพิ่มขึ้นไปกดการเคลื่อนไหวบริเวณรอยเลื่อน แต่เมื่อธารน้ำแข็งเหล่านั้นละลายและหดเล็กลง น้ำหนักของธารน้ำแข็งที่เคยหนักและกดรอยเลื่อนเอาไว้ก็ค่อย ๆ คลายลง ทำให้รอยเลื่อนมีการเคลื่อนไหวมากขึ้น และมีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวมากขึ้น

นั่นหมายความว่า หากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศมีความรุนแรงขึ้น ทำให้ธารน้ำแข็งละลายมากขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นอะแลสกา เทือกเขาหิมาลัย และเทือกเขาแอลป์ รวมถึงพื้นที่ที่ติดกับแผ่นธารน้ำแข็งเหล่านี้ ก็อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดแผ่นดินไหวมากขึ้น จากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วบริเวณรอยแตกของโลก.-815 – สำนักข่าวไทย

อ้างอิง
https://www.yahoo.com/news/scientists-explain-why-myanmar-quake-073634147.html
https://economictimes.indiatimes.com/news/international/global-trends/myanmar-thailand-earthquake-are-quakes-becoming-too-frequent/articleshow/119699880.cms?from=mdr

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ทีมกู้ภัยเดินหน้าค้นหาผู้สูญหายแผ่นดินไหวเมียนมา

ทีมกู้ภัยยังเดินหน้าค้นหาผู้สูญหายจากเหตุแผ่นดินไหวในเมียนมา แม้จะผ่านมา 4 วันแล้ว จนกลิ่นศพเริ่มคละคลุ้งไปทั่ว ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตใกล้แตะหลัก 3,000 ราย

ตึกถล่มพบเสียชีวิตเพิ่ม

พบผู้เสียชีวิตเพิ่ม 5 ราย ทีมกู้ภัยเร่งกู้ร่าง

พบผู้เสียชีวิตเพิ่ม 5 ราย ในพื้นที่โซน B และโซน C มีซากอาคารถล่มทับร่างอยู่ ทีมกู้ภัยเร่งกู้ร่างและค้นหาผู้สูญหายใต้ซากอาคารต่อเนื่อง

ข่าวแนะนำ

ค้นหาผู้สูญหายตึกถล่ม

ทีมกู้ภัย USAR จากแคนาดา ถึงจุดตึกถล่ม ช่วยค้นหาผู้สูญหาย

ทีมกู้ภัย USAR จากแคนาดา ถึงอาคารกำลังสร้างของ สตง.ที่ถล่มแล้ว พร้อมช่วยเหลือกู้ภัยไทยในการค้นหาผู้สูญหาย

ภาษีสหรัฐ

นายกฯ เรียกประชุม กก.สรุปแก้ปัญหาภาษีสหรัฐ 8 เม.ย.นี้

“จิรายุ” ระบุฝ่ายค้านบางพรรคน่าจะตกข่าว เพิ่งมาเสนอให้นายกฯ ตั้ง คกก.แก้ปัญหาภาษีสหรัฐฯ ทั้งที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ “ทรัมป์” ยังไม่ได้รับตำแหน่ง บอก 8 เม.ย.นี้ นายกฯ เรียกประชุม กก.สรุปทั้งหมด ที่ทำเนียบฯ

ตึกถล่ม

ปูพรมค้นหาทุกจุด ตึก สตง.ถล่ม

ปฏิบัติการปูพรมทุกจุด ค้นหาผู้สูญหายตึก สตง.ถล่ม ได้กลิ่นค่อนข้างแรง พบลักษณะคล้ายน้ำเหลืองและคราบเลือดในโซน B แต่ก็ยังไม่สามารถทลายปูนและตัดเหล็กเข้าไปได้

ไทยตอนบนอากาศร้อนและร้อนจัดบางพื้น มีฝนฟ้าคะนอง

กรมอุตุฯ รายงานไทยตอนบนอากาศร้อน และร้อนจัดบางพื้นที่บริเวณภาคเหนือและภาคกลาง ฝนฟ้าคะนองกับลมกระโชกแรงบางแห่ง ส่วนภาคใต้มีฝนฟ้าคะนอง