ปักกิ่ง 13 ม.ค.- คณะนักวิทยาศาสตร์จีนเปิดเผยการค้นพบแหล่งรอยเท้าไดโนเสาร์จำนวน 2 แห่งที่หมู่บ้านในเมืองชางตู เขตปกครองตนเองทิเบต (ซีจ้าง) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน หนึ่งในนั้นเป็นแหล่งฟอสซิลรอยเท้าไดโนเสาร์กินพืชขนาดเล็กที่สุดในโลกที่มีอายุกว่า 166 ล้านปี
สำนักข่าวซินหัวของทางการจีนรายงานว่า ทีมนักธรณีวิทยาค้นพบร่องรอยลักษณะคล้ายสัตว์เลื้อยคลานบนพื้นที่ริมถนนของหมู่บ้านเมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 จึงประสานงานกับคณะนักบรรพชีวินวิทยาเพื่อวิเคราะห์เชิงลึกจนสามารถระบุว่า เป็นรอยเท้าของไดโนเสาร์กลุ่มซอโรพอด (Sauropod) ที่เป็นไดโนเสาร์กินพืช และกลุ่มเทโรพอด (Theropod) ซึ่งเป็นไดโนเสาร์กินเนื้อจากยุคจูราสสิกกลาง
วารสารฮิสทอริคัล ไบโอโลจี (Historical Biology) ได้เผยแพร่ผลการศึกษานี้ทางออนไลน์เมื่อปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ผลการศึกษาพบว่า แหล่งรอยเท้าไดโนเสาร์หนึ่งแห่งมีร่องรอยการเดินของไดโนเสาร์กลุ่มเทโรพอดขนาดใหญ่ต่อเนื่องกัน 3 รอย แต่ละรอยยาวราว 42 เซนติเมตร คาดว่าเป็นของกลุ่มฟอสซิลรอยเท้ายูบรอนเตส (Eubrontes) ซึ่งพบไม่บ่อยในบันทึกรอยเท้าไดโนเสาร์ยุคจูราสสิกของทิเบต รอยเท้าเหล่านี้บ่งชี้ว่า ภูมิภาคนี้เคยเป็นที่อยู่ของไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดกลางที่อาจมีลำตัวยาวถึง 6 เมตร
ขณะอีกหนึ่งแห่งมีรอยเท้าไดโนเสาร์กลุ่มซอโรพอดขนาดเล็กที่อยู่กระจัดกระจาย ขนาด 8.8-15.5 เซนติเมตร คาดว่าเป็นของไดโนเสาร์มากกว่า 6 ตัว ซึ่งมีลำตัวยาวไม่เกิน 2 เมตร นักวิชาการของมหาวิทยาลัยธรณีศาสตร์แห่งประเทศจีน (ปักกิ่ง) ผู้เขียนหลักของการศึกษานี้ระบุว่า การพบรอยเท้าซอโรพอดขนาดเล็กเช่นนี้ถือว่าหายาก โดยก่อนหน้านี้เคยมีการค้นพบรอยเท้าไดโนเสาร์กลุ่มซอโรพอดขนาด 12.2 เซนติเมตรในเกาหลีใต้ และขนาด 11.5-13 เซนติเมตรในเขตปกครองตนเองมองโกเลียในทางตอนเหนือของจีน
การค้นพบครั้งนี้ในทิเบตช่วยขยายความเข้าใจเกี่ยวกับขนาดรอยเท้าไดโนเสาร์กลุ่มซอโรพอดในพื้นที่เมืองชางตู รวมถึงบ่งชี้ว่าอาจเคยมีไดโนเสาร์กลุ่มซอโรพอดขนาดเล็กกว่าอยู่ในภูมิภาคนี้ หรือไดโนเสาร์เหล่านี้มีการแยกกลุ่มตามอายุและมีพัฒนาการอันดีตั้งแต่แรกเกิด
ไดโนเสาร์กลุ่มซอโรพอดวัยเยาว์กับวัยโตเต็มวัยนั้นมีขนาดตัวแตกต่างกันมาก ไดโนเสาร์กลุ่มนี้ที่โตเต็มวัยอาจมีลำตัวยาว 20-30 เมตร แต่ลูกซอโรพอดฟักออกจากไข่มาใหม่ ตัวจะยาวไม่ถึงครึ่งเมตร ความแตกต่างนี้ส่งผลให้รูปแบบการเคลื่อนไหวและแหล่งอาหารแตกต่างกันตามอายุ นำมาสู่การแบ่งกลุ่มตามอายุของไดโนเสาร์ซอโรพอดสายพันธุ์ต่างๆ
แม้ภูมิภาคทิเบตอยู่ห่างไกลและตั้งอยู่สูงเหนือระดับน้ำทะเลมาก แต่คณะนักวิทยาศาสตร์ได้เดินทางสำรวจพื้นที่นี้เป็นประจำตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1970 ทำให้ค้นพบฟอสซิลไดโนเสาร์ยุคจูราสสิกตอนต้นและตอนกลางจำนวนมาก โดยเฉพาะภูมิภาคอย่างเมืองชางตู การตกตะกอนทางทะเล (marine sedimentation) ได้ลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปในยุคจูราสสิกตอนต้น ก่อนแปรสภาพเป็นแอ่งแผ่นดินห่างไกลทะเลในยุคจูราสสิกตอนกลาง โดยชั้นหินยุคจูราสสิกที่ลึกที่สุดมีความลึกมากกว่า 4,800 เมตร จึงเอื้อต่อการค้นพบฟอสซิลจำนวนมาก.-814.-สำนักข่าวไทย