โรม 5 ก.ค. – นักวิจัยเผยผลการศึกษาพบว่า น้ำเสียที่ยังไม่ผ่านการบำบัดจากหลายเมืองถูกนำไปใช้ในการเพาะปลูกตามพื้นที่การเกษตรหลายแห่งทั่วโลก ส่งผลให้ประชากรราว 885 ล้านคนเสี่ยงป่วยเป็นโรค อาทิ ท้องร่วงและอหิวาตกโรค
นักวิจัยเผยว่า น้ำปนเปื้อนขยะของเสีย ที่ปล่อยมาจากหัวเมืองบริเวณต้นน้ำห่างออกไปไม่เกิน 40 กิโลเมตร ถูกนำมาใช้ในการเพาะปลูกบนพื้นที่เกือบ 225 ล้านไร่ เทียบเท่ากับขนาดของประเทศเยอรมนีทั้งประเทศ ราวร้อยละ 80 ของพืชผลการเกษตร คิดเป็นพื้นที่ 181.25 ล้านไร่ มีการเพาะปลูกในประเทศที่มีระบบบำบัดน้ำเสียจำกัด อาทิ จีน อินเดีย ปากีสถาน เม็กซิโก และอิหร่าน น้ำเสียที่ไม่ผ่านการบำบัดทำให้เกษตรกรและผู้บริโภคเสี่ยงเผชิญปัญหาด้านสุขภาพ เกษตรมีโอกาสเป็นโรคผิวหนังจากการติดเชื้อแบคทีเรียในน้ำปนเปื้อน ขณะที่ผู้บริโภคเสี่ยงเป็นโรคพยาธิ ท้องร่วง และอหิวาตกโรคจากการรับประทานผักผลไม้แบบดิบๆ
ผู้จัดทำรายงานผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียในสหรัฐกล่าวว่า ปัญหาเรื่องความปลอดภัยด้านอาหารจะเป็นภัยคุกคามที่เลวร้ายลงอีก ตราบที่จำนวนประชากรยังเพิ่มสูงขึ้น และไม่มีการลงทุนด้านการบำบัดน้ำเสียที่เพียงพอ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่หลายเมืองกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว.- สำนักข่าวไทย