รีโอเดจาเนโร 4 ก.ค.- นักวิจัยชาวบราซิลพบพืชที่มีสารแคนนาบิไดออลหรือซีบีดี (CBD) ที่นำไปบรรเทาอาการป่วยหลายอย่าง แต่ไม่มีสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอลหรือทีเอชซี (THC) ที่ทำให้เสพติด
โฮดริโก โมรา แนโต วัย 66 ปี นักชีววิทยาโมเลกุล มหาวิทยาลัยแห่งชาติรีโอเดจาเนโร กำลังวิจัยต้นพังแหร (Trema micrantha blume) ซึ่งเป็นพืชท้องถิ่นโตเร็วของทวีปอเมริกา ถือเป็นวัชพืชที่พบได้ทั่วไป หลังจากพบว่า ผลและดอกของต้นนี้มีสารซีบีดีแบบที่พบในกัญชา ซึ่งเป็นสารที่ใช้บรรเทาอาการปวด คลายความวิตกกังวล โรคลมชัก แต่ไม่พบสารทีเอชซีแบบที่พบในกัญชา ซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ทำให้เสพติด การค้นพบนี้เปิดโอกาสให้แก่การหาแหล่งผลิตสารซีบีดีได้เป็นจำนวนมาก โดยไม่ต้องใช้ต้นกัญชาที่ยังเป็นพืชผิดกฎหมายในหลายประเทศ รวมถึงบราซิล
คณะทำงานของโมรา แนโตเพิ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐจำนวน 500,000 เรอัล (ราว 3.63 ล้านบาท) เพื่อสานต่อการวิจัย โดยจะมุ่งเน้นเรื่องการหาวิธีที่ดีที่สุดในการสกัดสารซีบีดีจากต้นพังแหร จากนั้นจะวิจัยเรื่องประสิทธิภาพในการนำมาใช้แทนกัญชาทางการแพทย์ เขาเผยว่า จะไม่จดสิทธิบัตรต้นพังแหร เพราะอยากให้นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกสามารถวิจัยได้เช่นกัน
โมรา แนโตเผยว่า สาเหตุที่เริ่มวิจัยสารซีบีดี เนื่องจากขณะนั้นเป็นนักนิติพันธุศาสตร์ มีหน้าที่วิเคราะห์ดีเอ็นเอของกัญชาที่ตำรวจยึดได้เพื่อช่วยในการตามหาต้นตอกัญชา ต่อมาเขาได้เห็นผลการศึกษาที่พบสารซีบีดีในต้นไม้ประเภทหนึ่งในไทย ซึ่งเป็นพืชในวงศ์กัญชา จึงอยากทดสอบกับต้นพังแหรในบราซิล ซึ่งเป็นพืชในวงศ์เดียวกัน อย่างไรก็ดี การค้นพบของเขาอาจต้องใช้เวลานาน 5-10 ปีในการวิจัยและทดลองทางคลินิก จนกว่าจะสามารถผลิตเป็นยาได้ และสารซีบีดีจากต้นพังแหรอาจไม่ให้ผลทางการแพทย์เลยก็ได้
แวนเทจ มาร์เก็ต รีเสิร์ช บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลประเมินว่า ปี 2565 ทั่วโลกมีความต้องการสารซีบีดีเกือบ 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เกือบ 174,820 ล้านบาท) และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 47,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (มากกว่า 1.64 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2571 ส่วนใหญ่เป็นความต้องการใช้งานด้านสุขภาพ.-สำนักข่าวไทย