เจนีวา 12 เม.ย. – คณะนักวิจัยของสวิตเซอร์แลนด์กล่าววานนี้ว่า วิธีการที่คนกดแป้นพิมพ์เพื่อใช้งานคอมพิวเตอร์และวิธีการคลิกเมาส์ สามารถใช้ในการตรวจจับความเครียดได้ดีกว่าการวัดอัตราการเต้นของหัวใจ พร้อมระบุว่า วิธีการนี้สามารถช่วยป้องกันมิให้เกิดความเครียดเรื้อรังได้
นักวิจัยแห่งสถาบันเทคโนโลยีแห่งสหพันธ์สวิสในซูริค เป็นมหาวิทยาลัยทางด้านวิทยาศาสตร์ในสวิตเซอร์แลนด์ กล่าวว่า พวกเขาใช้ข้อมูลใหม่และเครื่องจักรกลในการพัฒนารูปแบบใหม่สำหรับการตรวจจับระดับความเครียดในสถานที่ทำงาน โดยอ้างอิงจากวิธีการที่คนใช้ในการพิมพ์และคลิกเมาส์ในการทำงานกับคอมพิวเตอร์ มารา นาเกลิน นักคณิตศาสตร์ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะนักวิจัยกล่าวว่า การพิมพ์บนแป้นพิมพ์คีย์บอร์ดอย่างไรและการเคลี่อนไหวในการใช้เมาส์ ดูเหทิอนว่าจะเป็นตัวทำนายความเครียดในสภาพแวดล้อมในที่ทำงานได้ดีกว่าการดูจากอัตราการเต้นของหัวใจ การศึกษาครั้งนี้ นักวิจัยใช้วิธีการสังเกตุผู้เข้าร่วมทดสอบจำนวน 90 คน ในสภาพแวดล้อมที่ใกล้เคียงกับสถานที่ทำงานจริง พร้อมกับบันทึกพฤติกรรมของเมาส์และคีย์บอร์ดของผู้ร่วมทดสอบพร้อมกับการบันทึกอัตราการเต้นของหัวใจ ในขณะเดียวกันก็จะซักถามเป็นระยะ ๆ ว่า พวกเขารู้สึกเครียดแค่ไหนอย่างไร ในขณะที่ผู้เข้าร่วมทดสอบบางคนได้รับอนุญาตให้ทำงานโดยไม่มีการรบกวน แต่ครึ่งหนึ่งจะถูกขัดจังหวะด้วยข้อความแชตและเข้ารับการสัมภาษณ์งาน ผลการวิเคราะห์พบว่า คนที่มีความเครียดจะพิมพ์และเคลื่อนไหวเมาส์แตกต่างจากผู้ที่ผ่อนคลาย โดยผู้ที่มีความเครียดเคลื่อนไหวเมาส์บ่อยกว่าและคลิกปลายลูกศรแม่นยำน้อยกว่า นอกจากนั้น ผู้ที่มีความเครียดยังพิมพ์ผิดพลาดและมีแนวโน้มที่จะเขียนแบบไม่สม่ำเสมอ เว้นระยะและมีช่องว่างเยอะ
นักวิจัยกล่าวว่า ความเชื่อมโยงระหว่างความเครียดกับพฤติกรรมของคีย์บอร์ดและเมาส์สามารถอธิบายได้ผ่านสิ่งที่เรียกว่า ทฤษฎีเสียงระบบประสาท กล่าวคือระดับความเครียดที่เพิ่มขึ้นจะมีผลกระทบในทางลบกับวามสามารถของสมองในการจัดการข้อมูล นักวิจัยกล่าวว่า มีความจำเป็นที่จะต้องตรวจจับความเครียดที่เพิ่มขึ้นในระหว่างทำงาน ผู้ที่ได้รับผลกระทบมักจะไม่ทราบว่า ทรัพยากรทางร่างกายและจิตใจลดน้อยถอยลงเรื่อย ๆ โดยมาทราบก็เมื่อสายเกินไป.-สำนักข่าวไทย