สวิตเซอร์แลนด์ 29 พ.ค. – หนอนผีเสื้อกลางคืนมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำลายขยะพลาสติกได้อย่างไร ติดตามในคอลัมน์ “สารคดีโลก”
ไม่แน่ว่าในอนาคตไม่ไกลจากนี้ บรรดาขยะพลาสติกย่อยสลายยากอาจไม่ใช่ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ต้องวิตกอีกต่อไป เมื่อทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และสถาบันชีวแพทย์และเทคโนโลยีชีวภาพแห่งคันตาเบรีย (ซีเอสไอซี) ในสวิตเซอร์แลนด์ ค้นพบวิธีจัดการกับถุงพลาสติกเหลือทิ้ง ซึ่งไม่เพียงกำจัดได้อย่างหมดจดเท่านั้น แต่วิธีการนี้ยังสะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
วิธีการที่ว่าคือ การใช้หนอนผีเสื้อกลางคืน โดยทีมนักวิจัยค้นพบว่า สิ่งมีชีวิตตัวจิ๋วพวกนี้มีความสามารถในการกัดกร่อนพลาสติกที่ได้ชื่อว่าเหนียวที่สุดได้อย่างน่าอัศจรรย์ ความสามารถที่ว่านี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากในการแก้ปัญหาขยะพลาสติกในระดับอุตสาหกรรมในภายภาคหน้าต่อไป
การค้นพบความสามารถของหนอนผีเสื้อกลางคืนเกิดขึ้นโดยบังเอิญ ขณะที่ เฟเดริกา เบอร์โตชินี นักชีววิทยาและนักเลี้ยงผึ้งมือสมัครเล่น ทำความสะอาดรังผึ้งและกวาดหนอนผีเสื้อที่พบใส่ลงในถุงพลาสติก ก่อนสังเกตเห็นว่า เพียงไม่นานถุงพลาสติกก็โดนเจาะเป็นรูพรุนด้วยฝีมือหนอนผีเสื้อเหล่านั้น เธอจึงตัดสินใจร่วมมือกับนักวิจัยซีเอสไอซี เพื่อศึกษายืนยันว่า หนอนผีเสื้อกลางคืนมีความสามารถในการกัดทำลายพลาสติก โดยทีมนักวิจัยได้ทดสอบด้วยการเกลี่ยหนอนผีเสื้อกลางคืนบนโพลีเอทิลีน ซึ่งเป็นประเภทพลาสติกที่ใช้ในชีวิตประจำวันมากที่สุด เช่น ถุงก๊อบแก๊บ ตาข่ายสนามฟุตบอล ตัวเคลือบสายเคเบิล ท่อน้ำ โต๊ะหรือเก้าอี้ และได้ค้นพบว่า พวกมันสามารถย่อยสลายโพลีเอทิลีนได้จริง โดยหนอนผีเสื้อ 100 ตัว สามารถย่อยถุงพลาสติก 1 ใบ ได้ถึง 92 มิลลิกรัม หรือราว 0.092 กรัม ในเวลา 12 ชั่วโมง
แม้ผลลัพธ์จากการทดสอบเป็นที่น่าพอใจ แต่ทีมนักวิจัยบอกว่า ยังคงต้องเดินหน้าศึกษาวิจัยความสามารถเจาะทำลายของหนอนผีเสื้อเหล่านี้ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ต่อไป เพื่อให้วิธีทำลายพลาสติกแบบธรรมชาตินี้ได้รับการประยุกต์ใช้อย่างมีประสิทธิภาพ. – สำนักข่าวไทย