ยูโรโพล 15 พ.ค. – หน่วยงานตำรวจยุโรป (ยูโรโพล) ชี้ไวรัสมัลแวร์ หรือที่เรียกว่า โปรแกรมเรียกค่าไถ่ ระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว มีผู้ได้รับผลกระทบแล้วกว่า 200,000 ราย กว่า 150 ประเทศ
ร็อบ เวนไรท์ ผู้บัญชาการหน่วยงานตำรวจยุโรป (ยูโรโพล) เปิดเผยกับสถานีโทรทัศน์ไอทีวีของอังกฤษว่า การโจมตีทางไซเบอร์ด้วยการปล่อยมัลแวร์ หรือ โปรแกรมเรียกค่าไถ่ สร้างความเสียหายให้กับเหยื่อซึ่งเป็นหน่วยงานต่างๆ มากกว่า 200,000 ราย ในกว่า 150 ประเทศทั่วโลก หลังจากภาคธนาคารของรัสเซีย โรงพยาบาลในอังกฤษ โรงงานรถยนต์ของยุโรปหลายแห่งได้รับความเดือดร้อนจากการโจมตีทางไซเบอร์ครั้งนี้ ถือว่าเป็นเหตุที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และเชื่อว่าจำนวนผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์ที่ได้รับผลกระทบอาจเพิ่มขึ้นในอีกไม่กี่วันนี้
ก่อนหน้านี้ นักวิจัยด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ชาวอังกฤษผู้ใช้นามแฝงว่า MalwareTech ซึ่งเป็นผู้พบวิธีหยุดยั้งการแพร่ระบาดของมัลแวร์เรียกค่าไถ่ที่ใช้ชื่อว่า WannaCry เตือนว่า อาจมีการแก้ไขรหัสมัลแวร์ตัวนี้เพื่อให้ทำสำเนาและแพร่กระจายตนเองได้อีกครั้ง ก่อนจะเริ่มการโจมตีทางไซเบอร์ครั้งใหม่ เร็วที่สุดน่าจะเป็นภายในช่วงเช้าวันจันทร์นี้ และยังไม่แน่ว่าจะสามารถค้นพบวิธีหยุดยั้งมัลแวร์แบบใหม่ได้ พร้อมเน้นย้ำว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือ ทุกคนต้องเริ่มอัพเดตระบบปฏิบัติการทันที เพื่ออุดช่องโหว่ที่มัลแวร์จะใช้เข้ามาโจมตี และว่าไม่มีเหตุผลที่แฮกเกอร์จะหยุดการกระทำนี้ เพราะมีผลประโยชน์เป็นเงินจำนวนมหาศาล
บริษัทไซแมนเทคประเมินเบื้องต้นว่า มัลแวร์เรียกค่าไถ่ WannaCry สร้างความเสียหายต่อองค์กรต่าง ๆ ทั่วโลก คิดเป็นมูลค่าหลายสิบล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายในการกวาดล้างรหัสมัลแวร์ออกจากระบบ ทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งระดมกำลังช่างเทคนิคและพนักงานดูแลระบบคอมพิวเตอร์ป้องกันระบบตลอดช่วงสุดสัปดาห์
ขณะที่รัฐบาลสหรัฐออกประกาศเตือนภัยทางเทคนิค และแนะนำให้ผู้ได้รับผลกระทบจากมัลแวร์เรียกค่าไถ่เข้ารายงานต่อเอฟบีไอ หรือกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิด้วย
ทั้งนี้ มัลแวร์เรียกค่าไถ่ WannaCry ใช้เครื่องมือโจมตีช่องโหว่ของระบบปฏิบัติการวินโดวส์ ที่กลุ่มแฮกเกอร์ขโมยมาจากสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ (เอ็นเอสเอ) โดยจะเข้ารหัสล็อกข้อมูลในเครื่องไม่ให้ผู้ใช้เข้าถึงได้ และเรียกร้องให้จ่ายเงินค่าไถ่เพื่อปลดล็อก. – สำนักข่าวไทย