ก.พลังงาน 8.ส.ค.- ก.พลังงาน ยังไม่ได้ข้อสรุป มาตรการบรรเทาผลกระทบจากค่าไฟฟ้าที่จะปรับขึ้นงวดสุดท้ายของปีนี้ ด้าน ปตท.สผ.เร่งการผลิตเอราวัณ คาดได้ 500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ปลายปีนี้
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่านายกรัฐมนตรีมีความเป็นห่วงผลกระทบประชาชนจากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร หรือค่าไฟฟ้าเอฟทีงวดใหม่ (ก.ย.-ธ.ค.65) ในอัตรา 93.43 สตางค์ต่อหน่วย และสั่งการให้กระทรวงฯหาแนวทางการช่วยเหลือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ซึ่งกระทรวงพลังงาน กำลังหารือกับกกพ. เพื่อกำหนดมาตรการช่วยเหลือ ว่าจะมีลักษณะอย่างไรถึงจะเหมาะสม เพราะอัตราที่ปรับขึ้นค่อนข้างสูงกระทบทุกภาคส่วน โดยต้องดูแหล่งที่มาของเงินอุดหนุนว่าจะใช้งบประมาณหรือใข้เงินจากแหล่งไหน
นอกจากนี้ยังต้องหาแนวทางแก้ปัญหาภาระหนี้ของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ที่เข้ามาช่วยอุดหนุนค่าไฟฟ้าด้วยการรับภาระค่าเชื้อเพลิงเอฟทีตั้งแต่ ก.ย.64-ส.ค.65 มูลค่าสูงราว 1 แสนล้านบาท คงต้องหาดูรูปแบบการช่วยเหลือว่าจะเป็นอย่างไร โดย กฟผ.จำเป็นต้องใช้เงินกู้ เพื่อเสริมสภาพคล่อง แต่สุดท้ายแล้วประชาชนจะทยอยจ่ายคืนเงินกฟผ.อย่างไร
“ความเป็นไปได้ที่จะทบทวนค่าไฟฟ้าเอฟทีตามมติบอร์ด กกพ. จากที่ให้ปรับขึ้นเป็น 93.43 สต./หน่วย ทำได้หรือไม่ คงต้องหารือกับ กกพ.โดยก่อนหน้านี้ยืนยันว่าทำไม่ได้ เพราะมีกฎหมายกำหนดไว้ ซึ่ง กกพ.คงเห็นแล้วว่าถึงเวลาที่ที่ต้องปรับขึ้น ประเด็นหลักที่นายกรัฐมนตรีเป็นห่วงคือผลกระทบกับประชาชน ต้องหาทางช่วยเหลือ” ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าว
นายกุลิศ ยังระบุถึงกรณีการแก้ปัญหาภาวะการขาดแคลนเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า เป็นอีกปัจจัยหนึ่งทีส่งผลมายังค่าไฟฟ้า ว่าขณะนี้เร่งรัดทุกฝ่ายเร่งผลิตและจัดหาทั้งในและต่างประเทศโดยยืนยันว่าไฟฟ้าไม่ขาดแนนอน ในขณะที่ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) กำลังเร่งผลิตในแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณ โดยใช้เครื่องมือและเทคโนโลยี ซึ่งจะทำให้กำลังการผลิตก๊าซฯ เพิ่มจากช่วงส่งมอบพื้นที่เมื่อเมษายน 2565 ที่ 300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันเพิ่มเป็น 500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในสิ้นปีนี้ และ ปตท.สผ. ยืนยันจะผลิตได้ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในปี 2567ซึ่งหากเพิ่มขึ้นได้ตามแผนก็จะส่งผลทำให้ค่าไฟฟ้าถูกลง.-สำนักข่าวไทย