กรุงเทพฯ 3 ก.ค. – อดีตพนักงานบริษัทเจเอสแอล ที่ถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม หลังบริษัทปิดตัว รวมตัวเรียกร้องเงินชดเชยการเลิกจ้าง พร้อมประกาศเดินหน้าขอความเป็นธรรม
วันนี้อดีตพนักงาน บริษัท เจเอสแอล โกลบอล มีเดีย จำกัด จำนวน 37 คน เดินทางเข้าพบทนายเดชา กิตติวิทยานันท์ เพื่อขอคำปรึกษาด้านกฎหมายหลังถูกบอกเลิกจ้าง เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ที่ผ่านมา โดยไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้า และบริษัทประกาศจะจ่ายเงินชดเชยให้พนักงานแค่ร้อยละ 16 จากจำนวนที่กฎหมายกำหนด
บรรดาอดีตพนักงาน เปิดเผยว่า ทางบริษัทได้เลิกจ้างพนักงานทั้งหมด 89 คน ในนั้นมี 10 คน ที่ยินยอมรับเงินชดเชยไปแล้ว โดยยอดเงินชดเชยเลิกจ้างที่ทางบริษัทต้องจ่ายตามกฎหมาย รวมเป็นเงินกว่า 31 ล้านบาท แต่ทางบริษัทแจ้งว่าจะให้เงิน 5 ล้านบาท ให้ไปแบ่งกันเอาเอง จึงเห็นว่าเป็นการเอาเปรียบ และไม่ปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน ทั้งที่ผ่านมา พนักงานยอมเสียสละให้บริษัททุกอย่าง ไม่ว่าจะลดเงินเดือน, ตัดเงินเบี้ยเลี้ยง, ตัดเงินค่าล่วงเวลา และการแบ่งจ่ายเงินเดือน เพราะเข้าใจว่าเศรษฐกิจไม่ดี ทำให้บริษัทประสบปัญหา ทุกคนก็พร้อมที่จะปฏิบัติตามนโยบายเพื่อให้บริษัทอยู่รอด เพราะบริษัทก็เหมือนบ้านอีกหลังที่ทุกคนอยู่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมา แต่สุดท้ายถูกทอดทิ้งเลิกจ้างแบบไม่ทันตั้งตัว ต้องกลายเป็นคนตกงานจึงมาขอคำปรึกษาทนายเดชา เพื่อดำเนินการทางกฎหมาย และทวงคืนความยุติธรรม
ด้านนายเดชา เปิดเผยว่า การที่ทางบริษัทฯ ไม่จ่ายเงินค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างถือเป็นการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน โดย ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 123 กรณีนายจ้างฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเกี่ยวกับสิทธิการได้รับเงินอย่างใดอย่างหนึ่งตามพระราชบัญญัตินี้และลูกจ้างมีความประสงค์ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ลูกจ้างมีสิทธิ์ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานแห่งท้องที่ที่ลูกจ้างทำงานอยู่หรือที่นายจ้างมีภูมิลำเนาอยู่ตามแบบที่อธิบดีกำหนด ซึ่งการที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง จะต้องจ่ายเงินชดเชยตามที่กฎหมายกำหนดทันที กรณีนี้มีผู้เข้าข่ายทำความผิด 3 กลุ่ม คือ บริษัท, กรรมการบริษัทผู้มีอำนาจ และผู้รับมอบอำนาจในการเลิกจ้าง
นายเดชา จึงให้คำแนะนำว่า อดีตพนักงาน บริษัท เจเอสแอล โกลบอล มีเดีย จำกัด ควรไปยื่นต่อพนักงานตรวจแรงงานก่อน เพื่อเรียกร้องเงินชดเชยเลิกจ้างตามที่กฎหมายกำหนด ส่วนการฟ้องศาลแรงงาน เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากการถูกเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ซึ่งจะต้องฟ้องแยกอีกส่วน นายเดชาจะช่วยเหลือทางคดีต่อไป
นายเดชา ระบุว่า ในยุคเศรษฐกิจฝืดเคืองอย่างปัจจุบัน ทำให้มีหลายบริษัทต้องเลิกกิจการ และเลิกจ้างลูกจ้างเป็นจำนวนมาก จึงอยากให้กรณีนี้เป็นกรณีตัวอย่างว่า ลูกจ้างมีสิทธิ์เรียกร้องหรือเอาผิด หากนายจ้างที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ลูกจากที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมยังมี พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน คุ้มครองสิทธิขั้นต่ำลูกจ้างทุกคนอยู่ โดยจะตกลงให้ต่ำความเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไม่ได้
น.ส.มานิตา อดีตเจ้าหน้าที่การเงิน เล่าว่า ทางผู้บริหารฝ่ายการเงินได้เสนอทางเลือกให้ฝ่ายบริหารพิจารณาจ่ายเงินชดเชยพนักงานตามที่กฎหมายกำหนด โดยอาจใช้วิธีแบ่งจ่ายเป็นงวด แต่สุดท้ายฝ่ายบริหารก็เลือกที่จะจ่ายเงินชดเชยในลักษณะนี้ รวมทั้งยังมีฝ่ายกฎหมาย มาร่างข้อกำหนดเพิ่มให้พนักงานที่ยินยอมรับเงินจำนวนร้อยละ 16 จากจำนวนที่กฎหมายกำหนดไปแล้ว ต้องไม่ติดใจสละสิทธิเรียกร้องใดๆ อีก
น.ส.ชิตวัน อดีตฝ่ายขายโฆษณา ร้องไห้วิงวองให้อดีตผู้บริหารบริษัทหันกลับมาช่วยเหลือพนักงานที่ร่วมต่อสู้กับบริษัทมาตลอด ตามที่เคยรับปากกับทุกคนไว้ พร้อมยืนยันว่ายังรักและเคารพผู้บริหารทั้ง 2 คน ในฐานะหัวหน้าครอบครัวเจเอสแอลเสมอ
น.ส.สุวรรณี โปรดิวเซอร์รายการที่ทำงานให้เจเอสแอลมานานกว่า 20 ปี กล่าวทั้งน้ำตาว่า ทุกคนไม่ต้องการจะมากล่าวร้ายกับอดีตหัวหน้าที่เคารพและบริษัทที่มีความผูกพัน แม้ที่ผ่านมาบริษัทอาจจะตัดสิทธิบางอย่างที่กฎหมายกำหนด แต่พนักงานทุกคนก็ยอมรับเพื่อรักษาบริษัทไว้ ทุกคนไม่ได้ติดใจจะเรียกร้องในเรื่องเก่า แต่ในวันสุดท้ายอยากขอให้ผู้บริหารบริษัทให้สิ่งที่ทุกคนควรได้เพื่อที่จะเอาไปใช้เลี้ยงชีพในวันข้างหน้า ขอให้ผู้บริหารคิดถึงวันที่มากอดคอกันทำงานและส่งรอยยิ้มให้กัน
สำหรับในวันพรุ่งนี้ (4 ก.ค.) เวลา 09.00 น. อดีตพนักงานจะรวมตัวกันไปยื่นหนังสือร้องเรียนที่สำนักสวัสดิการคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 4 .-สำนักข่าวไทย