รัฐสภา 15 มิ.ย. – ก้าวไกล น้ำตาคลอสู้เสียงข้างมาก ดันร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ผ่านด่านรับหลักการ เช่นเดียวกับร่างของ ครม.- ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ฉบับ ครม.และ ปชป.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ใช้เวลา 5 ชั่วโมง ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ตามที่นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นผู้เสนอ , ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ตามที่ ครม.เป็นผู้เสนอ ,ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามที่ ครม.เป็นผู้เสนอ และ ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ตามที่นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้เสนอ ซึ่งการอภิปรายส่วนใหญ่ของ ส.ส.พรรคฝ่ายค้านสนับสนุนร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมของพรรคก้าวไกล และไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายที่ ครม. และพรรคประชาธิปัตย์เสนอ ขณะที่ ส.ส.พรรครัฐบาลให้ความเห็นในทิศทางตรงกันข้าม แม้จะยอมรับกับการให้สิทธิบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศมีสิทธิตั้งสถาบันครอบครัว แต่คัดค้านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม
อย่างไรก็ตาม ในช่วงท้ายของการอภิปราย และเป็นการทำหน้าที่ของนายศุภชัย โพธิสุ รองประธานสภาฯ คนที่สอง พบว่านายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล ที่เป็นผู้อภิปรายคนสุดท้ายของฝ่ายค้าน ได้ขออภิปรายพร้อมเปิดคลิปวีดีโอที่ระบุว่าสัมภาษณ์ผู้ชุมนุมหน้ารัฐสภา เพื่อให้ ส.ส.ฟังเสียงของประชาชน เนื่องจากทราบว่ามติของวิปรัฐบาลจะลงมติไม่รับหลักการ แต่เมื่อไม่ได้รับอนุญาตจากประธาน ทำให้นายณัฐพงษ์ต้องพูดด้วยเสียงสั่นเครือและน้ำตาคลอเบ้า
“ผมเป็น ส.ส.สมัยแรก มองว่าระบบสภาที่ควบคุมด้วยวิป จะผ่านกฎหมายเพื่อประชาชนได้จริงหรือไม่ ผมไม่คิดว่าสมรสเท่าเทียมจะล้มด้วยมติวิปรัฐบาล ผมจึงไปอัดคลิปประชาชนเพื่อมาเปิดในสภาฯ แต่ประธานไม่อนุญาต ผมเคารพ ทั้งนี้ขอร้องสมาชิกวันนี้หากเลือกด้วยหลักเหตุผล ยึดประชาชน ไม่มีใครมองว่าเป็นความพ่ายแพ้ของรัฐบาล เพราะเป็นชัยชนะของประชาชน” นายณัฐพงษ์ กล่าว
จากนั้น เป็นการอภิปรายสรุป โดยนายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่อภิปรายพร้อมน้ำตาคลอเช่นกัน ว่าหากสภาฯ รับหลักการร่างกฎหมาย 3 ฉบับ ถือว่าใจกว้าง และเป็นชัยชนะของประชาชนไม่ใช่ของพรรคใด ทั้งนี้ น้ำตาที่ไหลไม่ใช่ของธัญ แต่เป็นน้ำตาประชาชนที่รอ ส.ส.โหวต ขอฝากว่าสมรสเท่าเทียมคือกระดุมเม็ดแรกที่จะกลัดเพื่อความเสมอภาค
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากสมาชิกอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง ก็ได้ลงมติวาระแรกเป็นรายร่าง โดยที่ประชุมสภาฯมีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ตามที่พรรคก้าวไกล เป็นผู้เสนอ ด้วยคะแนน 212 ต่อ 180 เสียง งดออกเสียง 12 เสียง ไม่ลงคะแนน 4 เสียง
ที่ประชุมสภาฯ ยังได้มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ตามที่ ครม.เป็นผู้เสนอ ด้วยคะแนน 229 ต่อ 167 เสียง งดออกเสียง 6 ไม่ลงคะแนน 2 เสียง และมีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามที่ ครม.เป็นผู้เสนอ ด้วยคะแนน 230 ต่อ 169 เสียง งดออกเสียง 7 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง รวมทั้งมีมติรับหลักการร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ตามที่นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้เสนอ ด้วยคะแนน ต่อ 251 เสียง 124 งดออกเสียง 30 เสียง ไม่ลงคะแนน 2 เสียง
จากนั้นที่ประชุมสภาฯตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือ ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม และร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต โดยพิจารณารวมกันทุกฉบับ จำนวน 25 คน กำหนดแปรญัตติ 15 วัน แต่เมื่อ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ เสนอให้พิจารณาร่างของ ครม.เป็นหลักในการพิจารณา ทำให้เกิดการทักท้วงจาก ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่ระบุว่า แม้จะเป็นคณะกรรมาธิการฯเดียวกันทั้ง 4 ร่าง แต่เสนอให้แยกพิจารณาเป็น 2 กลุ่ม ร่าง พ.ร.บ. คือ 1.ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยใช้ร่างของพรรคก้าวไกลเป็นหลัก และ 2.ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ใช้ร่างของพรรคประชาธิปัตย์เป็นร่างหลัก ก่อนที่ประธานจะสั่งลงมติว่าจะใช้ร่างใดเป็นหลัก ในที่สุดที่ประชุมสภาฯมีมติให้ใช้ร่างทั้ง 2 ฉบับของ ครม.เป็นร่างหลักในการพิจารณา.- สำนักข่าวไทย